Last updated: 16 เม.ย 2566 | 457 จำนวนผู้เข้าชม |
โตโยต้าเผยยอดขายรถปี 2565 โต 11.9% มุ่งนำเสนอยานยนต์พลังงานไฟฟ้าและพลังงทางเลือก ควบคู่กับการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to customer
เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2566 เว็บไซต์บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ได้เปิดเผยสถิติการจำหน่ายรถยนต์ปี 2565 ระหว่าง มกราคม – ธันวาคม 2565 ว่าตลาดรถยนต์รวมมีปริมาณการขายทั้งสิ้น 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564
โตโยต้าระบุว่า ปี 2565 เป็นปีที่อุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยยังอยู่ในภาวะการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยมีปัจจัยบวกจากการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง พร้อมนโยบายผ่อนคลายทางการเงินของภาครัฐ และการส่งออกที่เริ่มเติบโตดีขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้า ตลอดจนสถานการณ์ของ COVID-19 ที่มีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศของภาครัฐ รวมถึงการทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวจากการเปิดประเทศ มีส่วนช่วยให้สถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศเริ่มกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ดียิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยด้านลบอื่นๆที่ส่งผลกระทบอยู่อย่างต่อเนื่อง เช่น ปัญหาการขาดแคลนเซมิคอนดัคเตอร์ที่ยังคงยืดเยื้อส่งผลกระทบกับภาคการผลิตในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก รวมถึงปัจจัยอื่นๆจากสถานการณ์เศรษฐกิจในภาพรวม อาทิ ปัญหาด้านโลจิสติกส์ระหว่างประเทศจากต้นทุนการขนส่งสินค้าทางเรืออยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นขณะที่เศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ความผันผวนของสถานการณ์การเงินโลก ราคาพลังงานและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลโดยตรงต่อต้นทุนการผลิตรถยนต์เพื่อจำหน่ายทั้งภายในประเทศและการส่งออก รวมถึงส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อเศรษฐกิจไทย แต่ในภาพรวมแล้วยังถือว่าการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสะท้อนมายังตลาดรถยนต์ในประเทศด้วยเช่นกัน โดยตัวเลขยอดขายรวมภายในประเทศปี 2565 อยู่ที่ 849,388 คัน หรือเพิ่มขึ้น 11.9% เมื่อเทียบกับปี 2564
สำหรับยอดขายของโตโยต้าในปี 2565 มียอดขายโดยรวมอยู่ที่ประมาณ 288,809 คัน หรือเพิ่มขึ้น 20.5% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา มีส่วนแบ่งทางการตลาดเป็นอันดับ 1 หรือเท่ากับ 34% ของยอดขายรถยนต์ทั้งหมด ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ส่วนแบ่งทางการตลาดรถยนต์นั่งของโตโยต้ามีการเติบโตสูงขึ้นจากปีที่แล้วอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความสำเร็จด้านยอดขายของรถยนต์รุ่นใหม่อย่าง Veloz และ Yaris ATIV ที่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี 2566 คาดว่าจะยังคงกลับคืนสู่สภาวะปกติอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆ กับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมด จากทิศทางที่ดีในการลดระดับโควิด-19 สู่โรคติดต่อเฝ้าระวังของกระทรวงสาธารณสุข ส่งผลให้การดำเนินชีวิตผู้คนเริ่มกลับสู่สภาวะปกติ พร้อมกับการเปิดประเทศส่งเสริมการท่องเที่ยว ที่มีส่วนช่วยเพิ่มอุปสงค์ภายในประเทศ ในขณะที่ปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนการผลิตก็จะค่อยๆ คลี่คลายลงเช่นกัน อันจะส่งผลให้อุตสาหกรรมยานยนต์เริ่มทยอยกลับคืนสู่สภาวะปกติ โดยคาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี 2566 จะอยู่ที่ 900,000 คัน หรือเพิ่มขึ้น 6.0% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
ทิศทางการดำเนินธุรกิจของโตโยต้าในประเทศไทย ในปี 2566 โตโยต้าพร้อมเดินหน้าตามแนวทางที่ มร.อากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น ได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้ในงานฉลองวาระครบรอบ 60 ปี ของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ผ่านมา ในการดำเนินงานเพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการเป็น “ผู้นำพาการขับเคลื่อนสำหรับทุกคน” (Mobility for All) พร้อมสร้าง “ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Carbon Neutrality) ผ่านการเตรียมความพร้อมในหลากหลายแนวทาง หรือ “Multi - Pathway” เพื่อทุกความเป็นไปได้ที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากการเดินทางของผู้คน ผ่านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ การบริการ และ กิจกรรมต่างๆ เพื่อส่งมอบความสุขที่ยั่งยืนให้แก่ผู้คนและสังคมไทย
ในด้านผลิตภัณฑ์และการบริการสำหรับลูกค้า โตโยต้าจะพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าและพลังงานทางเลือกต่างๆ เพื่อมอบทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมที่เป็นไปได้สำหรับทุกคน ควบคู่ไปกับการให้ความสำคัญกับการดำเนินกิจกรรมการตลาดและการส่งเสริมการขายภายใต้แนวคิด Closer to customer (ใกล้ชิดกับลูกค้ามากยิ่งขึ้น) ตลอดจนร่วมกับเครือข่ายทางธุรกิจในการนำเสนอนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางและการบริการที่ดียิ่งขึ้นให้แก่ลูกค้าอย่างสม่ำเสมอ อาทิ การผสมผสานเทคโนโลยีแห่งการเชื่อมต่อเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการเดินทาง (Connected) การบริการการขับเคลื่อนในรูปแบบของการแบ่งปันการใช้งาน (Sharing) เป็นต้น
ในด้านสังคม โตโยต้ายังคงมุ่งเน้นการขับเคลื่อนสังคมไทย สู่ “ยุคแห่งการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยการดำเนินงานในภาคส่วนต่างๆ พร้อมความร่วมมือกับพันธมิตรในอุตสาหกรรมอื่นๆ เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) เช่น โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบที่ยั่งยืนปราศจากมลภาวะร่วมกับเมืองพัทยา ซึ่งที่ผ่านมาโตโยต้าได้มีการนำรถยนต์พลังงานสะอาดทุกรูปแบบไปทดลองให้บริการเพื่อตอบสนองการเดินทางที่มีความหลากหลายแก่ประชาชนและนักท่องเที่ยวในเมืองพัทยา โดยได้ร่วมมือกับโรงแรมและจุดท่องเที่ยวในตัวเมืองพัทยาเพื่อใช้เป็นจุดบริการรับรถและสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าสำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการ และในปีนี้มีแผนที่ขยายผลความร่วมมือเพื่อให้สามารถรองรับการใช้งานที่หลากหลายและครอบคลุมพื้นที่ในตัวเมืองพัทยามากยิ่งขึ้น
โครงการความร่วมมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ในการร่วมมือศึกษาแนวทางในการลดมลพิษจากการโลจิสติกส์ขนส่งสินค้า ด้วยเทคโนโลยีที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์อย่างรถบรรทุกที่ใช้พลังงานจากเซลส์เชื้อเพลิง ตลอดจนแนวทางการผลิตไฮโดรเจนพลังงานสะอาดจากชีวมวล
การขยายผลการดำเนินงานของโครงการ "ชุมชนสิ่งแวดล้อมยั่งยืน เพื่อมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน" ซึ่งเป็นการยกระดับจากการสร้างศูนย์การเรียนรู้ จากโครงการ "โตโยต้า เมืองสีเขียว อยุธยา" ไปสู่การสร้างชุมชนต้นแบบที่จะสร้างจิตสำนึกด้านสิ่งแวดล้อมให้ทุกคนในชุมชนสามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างยั่งยืน โดยในปีที่ผ่านมาได้มีการเปิดชุมชนต้นแบบแห่งแรกไปแล้วที่จังหวัดระยอง และในปีนี้ โตโยต้าได้ตั้งเป้าหมายที่จะขยายเพิ่มให้ครอบคลุมทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
สถิติการจำหน่ายรถยนต์ เดือนมกราคม – ธันวาคม 2565
ตลาดรถยนต์รวม ปริมาณการขาย 849,388 คัน เพิ่มขึ้น 11.9%
อันดับที่ 1 โตโยต้า 288,809 คัน เพิ่มขึ้น 20.5% ส่วนแบ่งตลาด 34.0%
อันดับที่ 2 อีซูซุ 212,491 คัน เพิ่มขึ้น 15.4% ส่วนแบ่งตลาด 25.0%
อันดับที่ 3 ฮอนด้า 82,842 คัน ลดลง 6.6% ส่วนแบ่งตลาด 9.8%
ย้อนไปเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2564 นายอากิโอะ โตโยดะ กรรมการผู้จัดการใหญ่ โตโยต้า มอเตอร์ คอร์ปอเรชั่น ได้ประกาศไว้ว่า โตโยต้ามีกลยุทธ์มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือกลยุทธ์ด้านยานยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และโตโยต้าจะผลิตรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ครบทั้ง 30 รุ่น ภายในปี 2573 รวมถึงรถซีรีส์ bZ จำนวน 5 โมเดล ซึ่งมาพร้อมกับแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นมาสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่โดยเฉพาะ
โตโยต้ามุ่งมั่นที่จะขายรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ให้ได้ทั้งสิ้น 3.5 ล้านคัน ภายในปี 2573 ทั้งนี้ โตโยต้าทุ่มเงินลงทุน 1.2 ล้านล้านบาทเพื่อพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ โดยที่เงิน 0.6 ล้านล้านบาทนั้นเป็นการลงทุนด้านแบตเตอรี่ และยังลงทุนอีก 1.2 ล้านล้านบาท สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด และรถยนต์ไฟฟ้าแบบเซลล์เชื้อเพลิง ภายในปี 2573
“ในประเทศไทยนั้น โตโยต้าเป็นผู้ริเริ่มแนะนำเทคโนโลยีด้านยานยนต์ไฟฟ้ามาตั้งแต่ปี 2552 โดยครองส่วนแบ่งการตลาดอยู่ถึง 80% และมีการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าของโตโยต้ามากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เรายังได้ทำการแนะนำ เลกซัส UX300e ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าพลังงานแบตเตอรี่ และ เลกซัส NX450h+ ซึ่งเป็นรถยนต์ไฟฟ้าแบบปลั๊กอินไฮบริด สำหรับแบรนด์โตโยต้า เรามีแผนที่จะทำการแนะนำ bZ4X ซึ่งถือเป็นรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นแรกของซีรีส์ bZ ออกสู่ตลาด ยิ่งไปกว่านั้น เราจะพยายามส่งเสริมให้มีการใช้ชิ้นส่วนที่ผลิตในประเทศให้มากยิ่งขึ้น เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตหลักสำหรับการประกอบรถยนต์ไฟฟ้าอีกหลากหลายรุ่นต่อไปในอนาคต”