X

กรมสรรพสามิต ลงนามข้อตกลงมาตรการ EV3.5 กับฉางอาน เอสไอซี และ GWM คาดรัฐใช้เงินอุดหนุนมาตรการนี้ 3 หมื่นล้านบาท

Last updated: 19 ม.ค. 2567  |  730 จำนวนผู้เข้าชม  | 

กรมสรรพสามิต ลงนามข้อตกลงมาตรการ EV3.5 กับฉางอาน

กรมสรรพสามิต ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงมาตรการ EV3.5 กับ 3 บริษัทรถยนต์ไฟฟ้า ฉางอาน ออโต้เซลล์  เอสเอสไอซี มอเตอร์-ซีพี และเกรท วอลล์ มอเตอร์ คาดจะมีการนำเข้าจากมาตรการระหว่างปี 2567-68 จำนวน 175,000 คัน  ส่งผลให้เกิดการผลิตรถ EV ในประเทศ 350,000-525,000 คัน มียอดประมาณการเงินอุดหนุน 34,060 ล้านบาท

กรมสรรพสามิต เดินส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามมาตรการ EV3.5 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ ผลักดันไทยเป็นศูนย์กลางผลิตอีวีในภูมิภาคอาเซียน ประเดิมบันทึกข้อตกลงตามมาตรการ EV 3.5 กับ ฉางอาน เอสเอไอซี และ เกรท วอลล์ มอเตอร์

ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV3.5 ในช่วงปี 2567-2570 ในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทยนั้น กรมสรรพสามิตได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวอย่าวต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2567 ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต ได้ร่วมลงนามในข้อตกลงการรับสิทธิตามมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ระยะที่ 2 หรือ EV 3.5 กับ 3 บริษัทยานยนต์ไฟฟ้า ประกอบด้วย บริษัท ฉางอาน ออโต้ เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เอสเอไอซี มอเตอร์-ซีพี จำกัด และบริษัท เกรท วอลล์ มอเตอร์ แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด (GWM)
 

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวว่า กรมสรรพสามิตได้เดินหน้าขับเคลื่อนมาตรการสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า EV 3.5 ในช่วงปี 2567 – 2570 เพื่อส่งเสริมและ สร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ควบคู่กับการขยายโอกาสของประเทศไทยในเวทีโลกในการส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนสำคัญในประเทศไทย ให้เกิดการขยายตัวและเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาค ตามนโยบาย 30@30 ที่ตั้งเป้าการผลิตยานยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ให้ได้อย่างน้อย 30% ในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ. 2030) นอกจา 3 บริษัทที่ร่วมลงนามในวันนี้ยังมีอีกหลายบริษัทที่อยู่ระหว่างการดำเนินการร่วมลงนามในข้อตกลงรับสิทธิ

 
บริษัทฯ ที่เข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 จะได้รับการสนับสนุนจากกรมสรรพสามิตดังนี้

1. รถยนต์นั่ง (ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) จะได้รับสิทธิประโยชน์ ดังนี้

1.1 สิทธิเงินอุดหนุน

1) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 10 kWh แต่ไม่เกิน 50 kWh

1.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

1.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 35,000 บาท/คัน

1.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 25,000 บาท/คัน

2) ขนาดแบตเตอรี่ ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป

2.1) ปี 2567 จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน

2.2) ปี 2568 จะได้รับเงินอุดหนุน 75,000 บาท/คัน

2.3) ปี 2569 - 2570 จะได้รับเงินอุดหนุน 50,000 บาท/คัน

1.2 สิทธิลดอัตราอากรขาเข้าไม่เกินร้อยละ 40 (สำหรับรถที่ราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท ที่มีการนำเข้าในช่วงปี 2567 - 2568)

1.3 สิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2 ในปี 2567 - 2570

2. รถยนต์นั่ง (ราคาตั้งแต่ 2 ล้านบาท แต่ไม่เกิน 7 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับสิทธิลดภาษีสรรพสามิตจากร้อยละ 8 เหลือร้อยละ 2

3. รถกระบะ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 2 ล้านบาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 50 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 100,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 0 ในปี 2567 - 2568 และอัตราภาษีร้อยละ 2 ในปี 2569 - 2570

4. รถจักรยานยนต์ (เฉพาะที่ผลิตภายในประเทศ และราคาไม่เกิน 150,000 บาท) ที่มีขนาดแบตเตอรี่ตั้งแต่ 3 kWh ขึ้นไป จะได้รับเงินอุดหนุน 10,000 บาท/คัน และได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิตร้อยละ 1 ในปี 2567 - 2570

และเพื่อเป็นการส่งเสริมการลงทุนในประเทศ กรมสรรพสามิตได้กำหนดเงื่อนไขให้ผู้เข้าร่วมมาตรการ EV 3.5 จะต้องทำการผลิตรถยนต์เพื่อชดเชยการนำเข้าภายในปี 2569 ในอัตราส่วน 1 : 2 ของจำนวนนำเข้าในช่วงปี 2567 – 2568 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 2 คัน) และผลิตชดเชยการนำเข้าภายในปี 2570 ในอัตราส่วน 1 : 3 (นำเข้า 1 คัน ผลิตชดเชย 3 คัน)

ดร. เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต กล่าวเพิ่มเติมว่า คาดการณ์การนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าจากมาตรการ EV 3.5 ประมาณ 175,000 คัน ในปี 2567-2568 ส่งผลให้เกิดการผลิตรถยนต์ภายในประเทศ ประมาณ 350,000 – 525,000 คัน ภายในปี 2570 โดยมียอดประมาณการเงินอุดหนุนในมาตรการ EV 3.5 อยู่ที่ 34,060 ล้านบาท อย่างไรก็ดี มาตรการ EV 3.5 ในครั้งนี้ จะเป็นการช่วยส่งเสริมและสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันควบคู่กับการสร้างโอกาสในการเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรมยานยนต์ทั้งระบบไปสู่อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า รวมถึงสนับสนุนและส่งเสริมในเรื่องความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตามยุทธศาสตร์กรมสรรพสามิต ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้วยภาษีสรรพสามิต มุ่งเน้นสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล เพื่อเดินหน้าประเทศไทยสู่ความยั่งยืน

สำหรับผู้ที่ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่กรมสรรพสามิต หรือสำนักงานสรรพสามิตพื้นที่ทุกแห่งทั่วประเทศ หรือที่ www.excise.go.th

 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้