X

เคล็ด(ไม่) ลับฉบับมือใหม่หัดถอย EV ป้ายแดง

Last updated: 8 Oct 2023  |  532 Views  | 

เคล็ด(ไม่) ลับฉบับมือใหม่หัดถอย EV ป้ายแดง

นาทีนี้รถ EV ป้ายแดงมาแรง “ปังไม่ไหว”

จบงานมอเตอร์โชว์ปั๊บ ยอดจองรถอีวีพุ่งปรี๊ด บ.กรังด์ปรีซ์ ฯประกาศลั่น รถยนต์ไฟฟ้า (EV) มียอดจอง 9,234 คัน คิดเป็น 21.1% ของยอดจองภายในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44

คอนเฟิร์มอีกครั้งจากปากโฆษกของ สอท. (สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย) ว่ายอดจดทะเบียนสะสมของรถยนต์ไฟฟ้า 100% ณ สิ้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา เกินครึ่งแสนคันไปแล้ว ขยับไปอยู่ที่ 53,087 คัน  เพิ่มพรวดพราดจากปีก่อนเกือบ 300% ไอ้ที่จดทะเบียนใหม่รถไฟฟ้า BEV ในเดือน มี.ค. 2566 ก็ปาเข้าไป  8,809 คัน เพิ่มจาก มี.ค. ปีที่แล้วทะลุ 527.87%

แน่ละ ความร้อนแรงนี้ได้แรงหนุนจากนโยบายอัดฉีดสุดลิ่มทิ่มประตูของรัฐบาล แต่ขณะเดียวกันค่ายรถ EV ทั้งหลาย ทั้งจีน ญี่ปุ่น ยุโรป และรวมทั้งเบอร์ 1 อย่างเทสลา ก็กระหน่ำเปิดตัวรถไฟฟ้ารุ่นใหม่ๆ จัดโปรโมชั่นดึงดูดใจให้คนอยากหันมาใช้รถอีวีกันอย่างต่อเนื่อง ที่หลายสำนักฯวิเคราะห์ว่าปีนี้ยอดขายรถ EV น่าจะพุ่งไปที่ระดับ 4-5 หมื่นคัน...ดูแล้วไม่น่าพลาดเป้า

แต่ความใหม่ ความทันสมัย ของรถ EV ก็ทำให้มีราคาที่แพงเอาการอยู่ เรื่องประกันภัยก็แพงกว่ารถทั่วไป 20-30% แถมยังไม่มีบทสรุปที่ชัดเจน เพื่อเป็นตัวช่วยให้ผู้ซื้ออีวีมือใหม่ตัดสินใจเลือกซื้อรถได้อย่างมั่นใจ “กรุงศรี ออโต้” ในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีข้อแนะนำ 3 ข้อมาให้พิจารณากัน มาดูกันเลย

1.เลือกแบรนด์และรุ่นที่เหมาะกับตนเอง

เมื่อพูดถึงตัวเลือกรถอีวี หลายคนอาจนึกถึงแบรนด์ใหม่ๆ ที่เพิ่งเข้ามาทำตลาดในไทย แต่ปัจจุบันรถอีวีมีให้เลือกหลากหลาย ทั้งแบรนด์ดังที่เราคุ้นเคยและแบรนด์ทางเลือกต่างก็ทยอยเปิดตัวโมเดลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง รวมแล้วถึงกว่า 20 แบรนด์รถยนต์ และ 50 แบรนด์รถจักรยานยนต์

ผู้ซื้อรถอีวีจึงสามารถเลือกแบรนด์และรุ่นที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์และกำลังซื้อของตนเอง ในขณะที่ผู้ให้บริการสินเชื่อยานยนต์เขาให้บริการสินเชื่ออีวีที่ครอบคลุมทุกประเภทรถอยู่แล้ว ผู้ที่ต้องการจะซื้อรถจึงไม่ต้องกังวลในการขออนุมัติสินเชื่อ

2.เช็กความคุ้มครองของประกันภัยให้ดี

หนึ่งประเด็นเกี่ยวกับอีวีที่อาจยังคาใจหลายคน คือ ประกันภัยรถอีวีแตกต่างกับประกันภัยรถทั่วไปอย่างไร เพราะแพงกว่า 20-30% เลยทีเดียว อันที่จริง ประกันภัยรถที่ต้องชำระเบี้ยกันทุกปีนั้น คือ ประกันอุบัติเหตุ ซึ่งให้ความคุ้มครองรถทุกประเภทเหมือนกันใน 3 ส่วน ได้แก่ บุคคลภายนอก บุคคลในรถ และความเสียหาย/สูญหาย/ไฟไหม้ของตัวรถยนต์ที่เกิดจากอุบัติเหตุ

ในส่วนของแบตเตอรี่ของรถอีวี ซึ่งเทียบได้กับเครื่องยนต์ของรถสันดาปภายใน จะเป็นการรับประกันจากบริษัทผู้ผลิต ซึ่งแตกต่างกันไปตามแต่ละแบรนด์และโมเดล ผู้ซื้อรถอีวีจึงควรตรวจสอบความคุ้มครองอย่างถี่ถ้วน เพื่อวางแผนค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมรถที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยหากต้องการความคุ้มครองเพิ่มเติมก็สามารถเลือกซื้อประกันคุ้มครองอะไหล่ (Extended Warranty) เพิ่มเติมได้

3.หา “ตัวช่วย” เพิ่มความอุ่นใจ

พูดถึงความอุ่นใจในการใช้รถ โดยเฉพาะเวลาที่ต้องเดินทางไกล ในเส้นทางที่ไม่คุ้นเคย หลายคนอาจนึกถึงบริการช่วยเหลือรถฉุกเฉิน (Roadside Assistance) แต่ในกรณีของรถอีวี ผู้ใช้มือใหม่ควรกังวลเรื่องการชาร์จไฟฟ้ามากกว่า ดังนั้น การหาข้อมูลของสถานีชาร์จระหว่างทางเพื่อวางแผนการเดินทางจึงเป็นเรื่องจำเป็น

ปัจจุบัน ผู้ให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าได้พัฒนาแอปพลิเคชันโดยมีฟีเจอร์การค้นหาสถานีชาร์จเข้ามาแล้วทั้งนั้น ในส่วนของผู้ใช้งานแอปพลิเคชัน GO by Krungsri Auto ก็สามารถใช้ฟีเจอร์ “สถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV Station)” เพื่อตรวจสอบตำแหน่งที่ตั้งของสถานีชาร์จ สถานะพร้อมใช้งาน และประเภทเครื่องชาร์จของแต่ละสถานีได้แบบเรียลไทม์ได้เช่นกัน


นอกจากนี้การซื้อรถไฟฟ้ามาใช้สักคันถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่มีมูลค่าสูง ผ่อนทีไม่ใช่บาทสองบาท ดังนั้น ผู้ซื้อจึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญที่สามารถให้คำแนะนำด้านการเงินในเชิงลึก เพื่อให้สามารถผ่อนรถได้อย่างสบายใจ และมีประสบการณ์การใช้รถที่ดีได้ในทุกๆ วัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้