X

ธุรกิจอีวีเป็นโอกาสของคนทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

Last updated: 3 พ.ค. 2566  |  881 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ธุรกิจอีวีเป็นโอกาสของคนทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน

สัมภาษณ์พิเศษ พูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด

ปี พ.ศ.2559-60 รถยนต์ไฟฟ้าเริ่มเป็นกระแสที่คนไทยให้ความสนใจ ทำให้มีการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้าโดยฝีมือคนไทย และมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่น จีน และยุโรป ส่งรถต้นแบบเข้ามาเช็กความนิยมว่าคนไทยให้การตอบรับมากน้อยแค่ไหน

ด้วยข้อจำกัดของแบตเตอรีที่ยังวิ่งได้ระยะทางไม่ไกลมากนัก ทั้งยังมีราคาสูง ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าเป็นเพียงเทรนด์รถยนต์ในอนาคต ที่หลายคนเฝ้ารอให้เทคโนโลยีพัฒนาไปสู่จุดที่สอดคล้องกับการเดินทางระยะไกลมากขึ้น

ท่ามกลางความไม่ชัดเจนของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในยุคนั้น กลับมีผู้ประกอบการบางรายสนใจลงทุนในธุรกิจสถานีชาร์จ ทั้งๆ ที่มีผู้ใช้จำนวนไม่มากนัก และไม่น่าจะเพียงพอต่อการสร้างรายได้ในเชิงธุรกิจ

การบุกเบิกธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าในจังหวะเวลานั้น ผู้ประกอบการต้องมีสายป่านยาว มีความมั่นใจ มีกำลังใจต่อสู้ฟันฝ่าอุปสรรค และมีความอดทนรอเวลาให้ตลาดเติบโตสู่จุดคุ้มทุน

ระยะเวลา 5-6 ปี จึงมีผู้ประกอบการบางส่วนเลิกรา และมีบางส่วนปักหลักมั่นเดินหน้ากิจการต่อจนถึงปัจจุบันที่ธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าพัฒนาถึงจุดที่เหมาะสม และกำลังอยู่ในช่วงเติบโตอย่างก้าวกระโดด

หนึ่งในผู้บุกเบิกธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าในยุคนั้นที่ยืนหยัดกิจการมาจนถึงวันนี้ และสามารถบริหารกิจการให้เติบโตในท่ามกลางอุปสรรคนานัปการ จนกระทั่งมีอัตราเติบโตเท่าตัวติดต่อกันหลายปี คือคุณพูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด 

จุดเริ่มต้น อีโวลท์ เทคโนโลยี

ย้อนไปเมื่อเดือนมิถุนายน 2560 “คุณพูนพัฒน์” เริ่มต้นก่อตั้งบริษัทในคอนเส็ปท์ START UP ด้านอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ โดยใช้บ้านเป็นที่ทำงาน มีพนักงานเพียง 1 คน เวลาผ่านไปกว่า 5 ปี “อีโวลท์ เทคโนโลยี” ได้เติบโตมาเป็นสตาร์ทอัพที่มาแรงน่าจับตา ด้วยยอดเติบโตกว่าเท่าตัวหลายปีติดต่อกัน

จนกระทั่งล่าสุดมีพนักงานจำนวน 70 คน มีสถานีชาร์จมากกว่า 300 หัวชาร์จ และตั้งเป้าขยายเป็น 600 หัวชาร์จภายในปี 2566 โดยปีเป้าหมายขยายสถานีชาร์จเป็น 5,000 หัวชาร์จภายใน 5 ปี

ก่อนบุกเบิกธุรกิจสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า “คุณพูนพัฒน์” ได้รับแรงบันดาลใจจากคุณพ่อ ดร.พสุ โลหารกุล วศ.19 ทำให้เลือกเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วศ.49 สมัยเป็นนิสิตร่วมทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ และเป็นหัวหน้าทีมรถแข่ง Student Formula ที่ได้แชมป์ในปี 2010

เมื่อจบการศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เริ่มต้นการทำงานครั้งแรกที่ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ทำงานอยู่ประมาณ 4 ปี นับเป็นช่วงชีวิตที่เขาได้ประสบการณ์มากมายทั้งวิธีคิด และวิธีทำงานในองค์กรใหญ่ระดับโลก จากนั้นเข้าศึกษาระดับปริญญาโท Master of Science (Supply Chain Engineering) ที่ Georgia Institute of Technology ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำให้ได้เปิดโลกกว้าง ได้เห็นธุรกิจหลายๆ อย่างที่น่าสนใจ รวมทั้งสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า

ช่วงเวลานั้น “คุณพูนพัฒน์” ได้มีโอกาสลองขับรถยนต์ไฟฟ้า TESLA ทำให้ได้สัมผัสประสบการณ์การขับขี่ที่แตกต่างจากรถน้ำมัน และมีความประทับใจเทคโนโลยี สถานี Supercharger ในสหรัฐอเมริกา ที่ให้บริการลูกค้าที่ใช้รถเทสลาได้แบบ Excusive

“เทคโนโลยีเทสลาดีตรงที่เขาควบคุม User Experience ใน Close Loop ทำให้สามารถส่งข้อมูลถึงกันในเรื่องของสถานีชาร์จ และการใช้งานรถยนต์ รถคุณแบตเตอรีต่ำถึงเท่าไหร่ ควรจะวิ่งไปชาร์จจุดไหน ถ้าสถานีชาร์จเป็นเติร์ดปาร์ตี้ อาจทำแบบนี้ไม่ได้ ข้อดีของระบบปิดคือสามารถทำให้เวลาชาร์จสั้นที่สุด การหยุดชาร์จน้อยที่สุด แบตเตอรีมีการใช้งานประสิทธิภาพสูงที่สุด ข้อมูลพวกนี้เอไอเอาไปวิเคราะห์ออกมาเป็น Output ออกมาให้ดูกันได้เลย”

การได้ทดลองขับรถเทสลา และมีโอกาสได้ใช้บริการสถานี Supercharger ครั้งนั้นสร้างแรงบันดาลใจให้เขาสนใจทำธุรกิจเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้าตั้งแต่ตอนนั้น และเมื่อกลับประเทศไทยได้ปรึกษาคุณพ่อ และได้รับคำแนะนำให้มองเรื่อง  Infrastructure เป็นสำคัญ จึงเป็นที่มาของสตาร์ทอัพสัญชาติไทย “Evolt Technology”

อีโวลท์ เทคโนโลยี ผู้ให้บริการสถานีชาร์จครบวงจร

หากย้อนไปเมื่อเริ่มก่อตั้ง บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด มาดำเนินกิจการจำหน่ายอุปกรณ์ชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าและให้บริการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสาธารณะ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 อาจดูเป็นประกอบกิจการตามปกติทั่วๆ ไป แต่เมื่อกิจการนี้มีการบริหารกิจการโดยผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ ย่อมทำให้กิจการเติบโตไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง

แน่นอนว่า “อีโวลท์ เทคโนโลยี” ที่บริหารโดย “คุณพูนพัฒน์” นับว่าเป็นกิจการที่เริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นระบบตามแบบฉบับของเอนจิเนียร์ ทำให้มีการแบ่งการให้บริการเป็น 4 โซลูชั่นหลักๆ ดังนี้

1.บริการติดตั้งครบวงจร เป็นการให้บริการโดยทีมงานมืออาชีพทุกขั้นตอน ทั้งด้านการให้บริการสร้างระบบชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า พัฒนาระบบชาร์จให้ตอบโจทย์ความต้องการตรงตามงบประมาณของผู้ลงทุน โดยต้องสร้างความพึงพอใจสูงสุดให้แก่คู่ค้าและผู้ใช้งาน

2.บริการเครื่องชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า โดยมีโซลูชั่นการชาร์จคุณภาพสูง และมีความหลากหลายจากคู่ค้าทางธุรกิจที่น่าเชื่อถือ และมีการรับประกันอุปกรณ์ชาร์จ

3.บริการแพลตฟอร์มอัจฉริยะพร้อมแอพลิเคชั่นที่ใช้งานง่าย มีการจัดการระบบหลังบ้านให้ง่ายต่อการใช้งานและจัดการข้อมูล โดยแอพลิเคชั่นต้องใช้งานง่ายและทรงพลังสำหรับผู้ใช้งาน สามารถเข้าถึงข้อมูลการชาร์จได้ทันที โดยทางบริษัทให้บริการบำรุงรักษาเครื่องชาร์จและแพลตฟอร์ม 3 ปี

4.บริการด้านวิศวกรรมและบริการหลังการขายด้วยทีมวิศวกรผ่านการรับรองและได้รับใบอนุญาตจากสภาวิศวกร ในส่วนของผู้เชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าต้องผ่านการอบรมจากกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) การันตีความมั่นใจและความปลอดภัยด้วยมาตรฐานการติดตั้งจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ผู้ช่วยมีความพร้อมช่วยเหลือด้านปฏิบัติงานและด้านเทคนิคทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง

รูปแบบการให้บริการนั้นมีความชัดเจนว่าเป็นการมุ่งหาพันธมิตรมาร่วมลงทุนสถานีชาร์จ และให้บริการหลังการติดตั้ง โดยการหาพันธมิตรมี 2 รูปแบบคือเปิดกว้างสำหรับผู้สนใจลงทุนเสนอทำเลเข้ามาโดยบริษัทฯจะมีทีมเข้าไปศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และอีกแนวทางหนึ่งคือขยายสถานีชาร์จจากฐานข้อมูลที่มีอยู่ โดยปัจจุบัน “อีโวลท์” มีพันธมิตรมากมายทั้งภาครัฐและเอกชน อย่างเช่นสถานีบริการน้ำมัน บริษัทพลังงาน ห้างสรรพสินค้า ศูนย์ประชุมฯ โชว์รูมรถยนต์ ฯลฯ

“การให้บริการมุ่งหาพันธมิตรเป็นแนวทางที่ถูกต้อง เรามุ่งให้บริการสถานีชาร์จเต็มที่ โฟกัสในเรื่องของการหาพันธมิตรมาขยายธุรกิจตรงนี้ เพื่อทำให้ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าแข็งแรง เราตั้งเป้าตัวเองทำธุรกิจเบื้องหลัง ไม่ทำธุรกิจเกี่ยวกับตัวรถยนต์ เน้นทำอินฟราสตรัคเจอร์ให้แข็งแรง สร้างความมั่นใจให้คนหันมาใช้รถไฟฟ้ามากขึ้น” คุณพูนพัฒน์ ยืนยันถึงแนวทางการทำธุรกิจของอีโวลท์

สำหรับในส่วนของตัวสินค้านั้นจะมีแบรนด์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ และเป็นดีลเลอร์ โดยมีซัพพลายเออร์หลักๆ ให้บริการลูกค้าหลายระดับมีตั้งแต่โฮมชาร์จเจอร์ ที่เป็นระบบ Normal Charge หรือ AC ไปจนถึงระบบ Fast Charge สำหรับสถานีชาร์จ โดยส่วนของอุปกรณ์หรือฮาร์ดแวร์ไม่ได้พัฒนาขึ้นเป็นแบรนด์ของอีโวลท์ หากแต่เป็นแบรนด์ของพาร์ทเนอร์ โดยมีแบรนด์ให้ลูกค้าเลือกตามงบประมาณ หรือสเปคที่ลูกค้าต้องการ

ลงทุนสถานีชาร์จร่วมกับ “อีโวลท์” ได้อย่างไร

ตัวเลขการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าและสถานีชาร์จ ที่เติบโตก้าวกระโดดไปด้วยกัน ถึงแม้จำนวนสถานีชาร์จในปัจจุบันที่มีอยู่ 2,500 หัวชาร์จ จะเพียงพอรองรับรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ที่มีอยู่ประมาณ 11,000 คัน (ตัวเลขจดทะเบียนเมื่อเดือนกันยายน 2565) เนื่องจากตัวเลขที่เหมาะสมคือ 0.1 ทราฟฟิคสเตชั่นต่อรถไฟฟ้า 1 คัน แต่หากประเมินยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่มีตัวเลขสูงนับหมื่นคันของ 2 ค่ายใหญ่ อย่างบีวายดีและเทสลาแล้ว เชื่อว่าหลายคนเริ่มสนใจเข้าสู่ธุรกิจสถานีชาร์จ

และด้วยการลงทุนสถานีชาร์จที่ไม่สูงมากนัก นั่นคือใช้เงินลงทุน 100,000-200,000 บาท สำหรับหัวชาร์จ AC หรือ Normal Charge และลงทุน 1,000,000 บาท สำหรับหัวชาร์จ DC หรือ Fast Charge ส่งผลให้มีผู้ประกอบการธุรกิจที่มีทำเลอยู่ในจุดที่ผู้รถยนต์เข้าไปใช้บริการจำนวนมากสนใจลงทุนติดตั้งหัวชาร์จที่ช่องจอดรถยนต์ ทั้งๆที่สถานีชาร์จอาจจะมีรายได้ไม่สูงเท่าการขายน้ำมัน แต่ถ้ามองในด้านของการจูงใจให้คนที่ต้องการชาร์จเข้าไปใช้บริการด้านอื่นในระหว่างรอเวลาชาร์จ ย่อมน่าสนใจไม่น้อยทีเดียว

“มีติดต่อเข้ามาเยอะมาก เป็นกลุ่มธุรกิจ อย่างเช่นร้านอาหาร คอนโด มันเป็นเทรนด์อยู่แล้วว่ารถยนต์ไฟฟ้าจะเพิ่มขึ้น เขาจะมีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าเพื่อดึงดูดลูกค้า การที่มีสถานีชาร์จมีข้อดีคือสามารถดึงดูดกลุ่มลูกค้าได้มากขึ้น และเป็นจุดขายจุดหนึ่ง เป็นคาแพซิตี้เสริมให้กับผู้ใช้บริการในพื้นที่ของเขาเพิ่มขึ้น”

คุณพูนพัฒน์ เล่าถึงสถาณการณ์ของธุรกิจสถานีชาร์จ ณ เวลานี้ พร้อมกับเปิดเผยรายละเอียดการลงทุนสำหรับผู้สนใจลงทุนสถานีชาร์จฯว่าทุกคนสามารถลงทุนได้ ไม่มีขั้นตอนยุ่งยาก หากมีทำเลที่มีศักยภาพเพียงพอ  เพียงแค่ส่งข้อมูลติดต่อเข้าไปทาง evolt.co.th ก็จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อเข้าไปดูทำเลว่ามีความพร้อมขนาดไหน…

“แอพโพรสเข้ามาได้เลยครับ เราเองเปิดกว้างให้เข้ามาคุยว่าทำเลมี Potential ในการลงทุนขนาดไหน จะมีผู้เชี่ยวชาญประเมินเบื้องต้นให้ จริงๆ เรามี criteria ในการลงทุนอยู่แล้ว มีขั้นตอนคือพอคุยกับเจ้าของพื้นที่เรียบร้อยแล้ว จะมีคณะกรรมการประเมินศักยภาพทำเลว่ามีความเหมาะสมกับการลงหรือไม่ จากนั้นจึงค่อยอนุมัติการลงทุน”

ทั้งนี้ หลักการเลือกทำเลสถานีชาร์จในเบื้องต้นมีทั้งส่วนที่เหมือนและแตกต่างจากสถานีบริการน้ำมัน คือต้องดูโลเคชั่น ดูทราฟฟิค ดูพื้นที่ว่าเป็นรูปแบบไหน เช่น เป็นห้าง คอนโด โรงแรม ที่สำคัญคือการดูทราฟฟิคจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าในทำเลนั้นๆว่ามีจำนวนมากน้อยแค่ไหน หากลงทุนร่วมกันแล้วธุรกิจต้องเดินหน้าไปได้

“จุดคุ้มทุนขึ้นอยู่กับทราฟฟิคของจำนวนรถและอัตราการใช้งานปัจจุบัน  ใช้เวลาประมาณ 5-7 ปี เหมือนธุรกิจทั่วไป หากวิเคราะห์ทำเลผ่านก็จะมีการเข้าไปประเมิน ไปเซอร์เวย์หน้างาน จากนั้นจึงมีการสั่งของ และเข้าไปติดตั้ง ใช้เวลาราวๆ 2 เดือน”

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาถึงอัตราการเติบโตของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่โตแบบก้าวกระโดด “คุณพูนพัฒน์” มองว่าธุรกิจอีวีเป็นโอกาสของคนทั้งประเทศ ภาครัฐต้องสนับสนุนให้เกิดการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ หรือเอกชนมาลงทุนเอง ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติถ้าเกิดมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาสู่ธุรกิจนี้จำนวนมาก

“ตอนนี้ผู้ลงทุนต้องวิ่งตามน้ำ ต้องขายสินค้าตามธุรกิจที่เติบโต ไม่ว่าจะเป็นหัวชาร์จแบบ AC หรือ DC มีความต้องการสูงพอๆ กัน หัวชาร์จ AC ต้องการติดตั้งตามบ้านหรือสถานีชาร์จต่างจังหวัด ส่วน DC เหมาะสำหรับสถานีบริการน้ำมัน ตามไฮเวย์ หรือศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ตามเป้าหมายของภาครัฐหรือเอกชน อย่าง PEA  EGAT หรือ OR เขามีเป้าหมายสถานีค่อนข้างชัดเจน และต้องการติดตั้งจำนวนเยอะในระยะเวลาอันใกล้ ฉะนั้นดีมานด์ของตัว DC ค่อนข้างสูงเช่นกัน”



สภาพการแข่งขันในตลาดสถานีชาร์จ

ปัจจุบันมีผู้ให้บริการสถานีชาร์จเป็น (Service Provider) ประมาณ 10 ราย มีสถานีชาร์จ 2,500 สถานี หากมองในด้านจำนวนสถานีชาร์จสอดคล้องกับจำนวนรถยนต์ไฟฟ้าหรือไม่นั้น “คุณพูนพัฒน์” มองว่าเพียงพอแล้ว แต่เมื่อถามถึงสภาพการแข่งขันในตลาดนี้ โดยธรรมชาติของการทำธุรกิจแบบ Full Range ย่อมทำให้มีคู่แข่งในแต่ละขาในแต่ละพื้นที่

“ไม่อยากให้มองว่าเป็นคู่แข่ง ตลาดในปัจจุบันยังเติบโตได้อีกมาก การมีคนเข้ามาทำธุรกิจนี้เยอะย่อมทำให้ฐานใหญ่ขึ้น การที่มีคนมาทำธุรกิจคล้ายกันในช่วงสองปีที่ผ่านมาจำนวนมาก ทำให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาค่อนข้างมาก ถ้าเราฟังข่าวจะได้ยินคำว่าอีวีทุกวัน ไม่มีวันไหนไม่ได้ยินคำว่าอีวี ทุกคนมองว่าเป็นโอกาสก็วิ่งเข้ามา แต่ละคนเข้ามาเติมเต็ม มาช่วยกันสร้าง Eco system ของรถยนต์ไฟฟ้า”

ในมุมมองของเขามองว่าการมีผู้ประกอบการรายใหม่ๆเข้ามาจะเป็นในรูปแบบของการเสริมให้ตลาดเติบโตเร็วขึ้นเป็นผลดีต่อตลาดโดยรวม ช่วงนี้จึงไม่มีการแข่งขันตัดราคา เพราะผู้ประกอบการแต่ละรายมีฐานราคาอยู่แล้ว ทำให้ไม่มีการแข่งขันลดราคา หรือมีการปรับขึ้นราคาแบบผิดปกติ

“แต่ละคนจะแข่งขันในเชิงแยก strategy location เชิงการขยายตัว แข่งกันขยายมากกว่า แข่งในเชิงความร่วมมือก็มี อย่างเช่น Roaming ของ Charging Consortium โอปะเรชั่นหลักๆ จะจับมือกันเพื่อให้สามารถแชร์ข้อมูลของสถานีชาร์จข้ามผ่านแพล็ตฟอร์มได้ เป็นการจับมือกันเพื่อที่ต่างคนต่างไปขยายของตัวเอง ถ้าไม่จับมือกันการสร้างรีเทิร์นในสถานีจะค่อนข้างยาก”

ดังนั้นอุปสรรคของการทำตลาดสถานีชาร์จคือการขยายให้ทันกับความต้องการที่เพิ่มในอัตราก้าวกระโดด ขณะเดียวกันในส่วนของการชาร์จยังมีความจำกัดในด้านเวลา ต้องใช้เวลา 20 นาที ถึงครึ่งชั่วโมง ขณะที่เติมน้ำมันใช้เวลาแค่ 5-10 นาที เวลาที่แตกต่างกันตรงนี้มีส่วนสำคัญในตัดสินใจสำหรับผู้ใช้รถยนต์อยู่พอสมควร

“เทคโนโลยีการชาร์จให้เร็วขึ้นต้องพัฒนาไปพร้อมๆ กับตัวรถยนต์ หากเทคโนโลยีการชาร์จพัฒนาไปได้ไกล ถึงแม้จะชาร์จได้เร็วแค่ไหนถ้าหากรถยนต์ไม่รองรับก็ไม่ได้ ตรงนี้มีปัจจัยเรื่องราคาเทคโนโลยีของรถยนต์แต่ละรุ่น แต่ละเซ็กเมนท์ ถูกออกแบบมาให้ชาร์จได้เร็วแค่ไหน สามารถตอบโจทย์การใช้งานแต่ละกลุ่มอย่างไร เป็นกลุ่มวิ่งในเมือง หรือวิ่งข้ามเมือง ถ้าเป็นวิ่งในเมืองต้องชาร์จเร็ว”

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตจะมีการพัฒนาเครื่องชาร์จกำลังสูงขึ้น ชาร์จได้เร็วขึ้น ทั้งนี้ด้วยเทคนิครถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรใช้ Fast charge บ่อยนัก ไม่ควรให้เกินกว่า 20% ของการชาร์จทั้งหมด เพื่อถนอมแบตเตอรี่ให้ใช้ได้นานที่สุด ดังนั้นวิธีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด คือกลับไปชาร์จเติมไฟฟ้าที่บ้านทุกวัน การชาร์จเร็วควรใช้เท่าที่จำเป็นเมื่อต้องเดินทางไกลเท่านั้น



มุมมองต่อสถานการณ์ยานยนต์ไฟฟ้าในไทย


หลายปีที่ผ่านมายานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยมีจำนวนไม่มากนัก แต่จัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตก้าวกระโดดทุกปี ถ้าดูตัวเลขถึงเดือน 10 ปี 2022 ข้อมูลของสมาคมยานยนต์ไฟฟ้าไทย (EVAT) มีรถยนต์ไฟฟ้าล้วน หรือ BEV จดทะเบียนประมาณ 11,000 คัน  รถปลั๊กอินไฮบริด PHEV 40,000 คัน ถือว่ามีการเติบโตค่อนข้างเร็วมาจากต้นปี เพราะมีค่ายรถยนต์ใหม่ๆ เข้ามาสร้างความตื่นตาตื่นใจให้ตลาดหลายแบรนด์

“ปกติการเติบโตของรถไฟฟ้าขึ้นอยู่กับการมีรุ่นรถยนต์ที่เป็นไฟฟ้าออฟเฟอร์ให้กับผู้บริโภค ถ้าผู้บริโภคมีตัวเลือกมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะมีอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น การมีแบรนด์รถยนต์ไฟฟ้าสองค่ายใหญ่ที่สุดของโลกเข้ามาทำตลาดในช่วงปลายปี ยิ่งสร้างความตื่นตัวและอัตราการเติบโตยิ่งชัดเจนมากขึ้น”

ดังนั้นตัวเลขจดทะเบียนที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเท่าตัว  จึงมีส่วนกระตุ้นให้มีการขยายสถานีชาร์จฯ  ทุกคนในวงการต้องติดตาม เทรนด์รถยนต์ไฟฟ้าให้ทัน อัตราเติบโตปีละ 100-200% เป็นเรื่องที่ไม่เหนือความคาดหมาย… “ดูจากข้อมูลวิจัยแล้ว ในสังคมไทยตัวเลขที่เหมาะสมของสถานีชาร์จคือ 0.1 ทราฟฟิคสเตชั่นต่อรถไฟฟ้าหนึ่งคัน หรือเทียบจากรถ 10 คันต่อทราฟฟิคสเตชั่น ตัวเลขสูง-ต่ำขึ้นอยู่กับวิถีชีวิตของคนแต่ละประเภท บางประเภทอยู่ตามบ้านเรือนที่อยู่อาศัย บางประเภทอยู่ตามคอนโด และอัตราสถานีชาร์จที่แตกต่างกัน”

 “สถานีชาร์จมี 2,500 หัวจ่าย เป็นตัวเลขอัพเดทเมื่อเดือนกันยายนของปีที่ผ่านมา เทียบกับรถไฟฟ้าที่มีอยู่ 11,000 คัน ถ้าดูตามสัดส่วนถือว่าเหมาะสม รองรับจำนวนรถปัจจุบันได้ แต่ถ้าจำนวนรถเพิ่มขึ้น สถานีชาร์จต้องเติบโตตามแน่นอน จำนวนสถานีชาร์จต้องโตควบคู่กับรถยนต์ไฟฟ้า”

ทั้งนี้ “พูนพัฒน์” มีความคิดเห็นว่าสถานีชาร์จยังขยายตัวได้อีกมาก ในเชิงธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า 80% ชาร์จที่บ้าน ฉะนั้นโอกาสทางธุรกิจโฮมชาร์จเจอร์ ถือเป็นโอกาสที่ใหญ่มากๆ จะมีมาร์เก็ตแคปใหญ่มากๆ ในเชิงธุรกิจ ไม่ใช่แค่รถแพสเซนเจอร์คาร์ และรถส่วนบุคคล ยังมีรถสาธารณะอีกที่สามารถเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้

ปัจจุบันประเทศไทยพร้อมรองรับอีวีแค่ไหน

ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับรถอีวีจะเป็น opportunity เป็นอีกโอกาสหนึ่งที่ค่อนข้างใหญ่สำหรับ ภาคขนส่ง ราคาน้ำมันมีการขึ้นลง หรือมีราคาสูงขึ้น ทำให้การควบคุมต้นทุนค่าขนส่งทำได้ยากขึ้น ไฟฟ้าจะเป็นตัวตอบโจทย์ เพราะมีการคงราคาไว้ ระยะ 3 ปี 5 ปี ให้สอดคล้องกับการเติบโตของอุตสาหกรรม ถ้าใช้ตัวต้นทุนเป็นรถไฟฟ้า จะควบคุมต้นทุนได้ง่ายกว่า

หากพิจารณาดูจากรถเล็ก รถส่วนบุคคล ต้นทุนเชื้อเพลิงต่อกิโลเมตรอยู่ที่ 50 สตางค์ ถ้าเป็นรถใช้น้ำมันต้นทุนประมาณ 2-3 บาท มีความแตกต่างที่ชัดเจน ยิ่งถ้าเป็นภาคขนส่งที่ต้องใช้รถวิ่งเยอะๆ จะยิ่งเห็นความแตกต่าง ดังนั้นถ้าเป็นในเรื่องของการลงทุนจะถึงจุดคุ้มทุนเร็ว

“รัฐบาลขึ้นค่าไฟฟ้าประมาณ 20% มีผลทำให้เชื้อเพลิงไฟฟ้าขึ้น 20% ก็ยังถือว่าห่างไกลจากราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันสูงกว่าไฟฟ้า 4 เท่า คือ 400% ค่าไฟฟ้าขึ้นราคา 20% ถือว่าเล็กน้อยมาก ถ้ามองในมุมของตัวอีวีนะ ถ้ามองในภาคการผลิต โอเคเขากระทบ เพราะค่าไฟอาจจะเป็นต้นทุนการผลิตของหลาย ๆ อย่าง”

ดังนั้น กระแสรถยนต์ไฟฟ้าที่มาแรงอยู่ในขณะนี้ถ้ามองภาพใหญ่นับเป็นบรรยากาศที่ดี รัฐบาลต้องแข่งขันว่าจะดึงฐานการผลิตต่างๆ มาประเทศไทยอย่างไร ต้องแข่งกับคู่แข่งประเทศต่างๆ ในอาเซียน อย่างอินโดฯ ก็มีแผนจูงใจค่ายรถยนต์รายใหญ่เข้าไปลงทุน สำหรับประเทศไทยอาจจะมีอุปสรรคบ้าง แต่ถ้าทำแผนส่งเสริมที่ดีย่อมดึงดูดนักลงทุนได้

หากบีโอไอออกมาตรการจูงใจนักลงทุนเข้ามาลงทุนอีวีได้จำนวนมาก ก็จะทำให้ตลาดเติบโตได้มากขึ้นอีก เมื่ออีวีเติบโตการใช้น้ำมันย่อมลดลง การนำเข้าน้ำมันลดลง สภาพเศรษฐกิจไทยจะมั่นคงขึ้น

สำหรับในด้านอินฟราสตรัคเจอร์รองรับยานยนต์ไฟฟ้า “คุณพูนพัฒน์” มั่นใจว่าประเทศไทยมี capacity เหลือใช้ในประเทศอยู่พอสมควร ที่ผ่านมาการจะขยายสถานีชาร์จในที่ต่างๆ การไฟฟ้าฯ มีการเก็บข้อมูลเพื่อประมวลผลว่าจะเติบโตเร็วแค่ไหน ส่งผลต่อภาพรวมการใช้พลังงานได้แค่ไหน ดังนั้นในเมืองที่ใหญ่มีอัตราการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสูงมักไม่ค่อยมีปัญหาไฟดับ แสดงให้เห็นว่าภาครัฐมีการจัดการดีมานด์ซัพพลายของการใช้ไฟฟ้าได้ดี

“ขณะนี้โรงไฟฟ้าที่มีอยู่ยังใช้ไม่เต็มกำลังการผลิต การไฟฟ้าสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก ถ้าหากปริมาณใช้ไฟยังเพิ่มสูงขึ้นอีก ประเทศไทยเราก็ยังมีพลังงานทางเลือกที่ภาครัฐวางมาเสริมให้รองรับการใช้พลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับรถยนต์ที่ชาร์จไฟฟ้าตามบ้านก็ยังมีโซลาร์เซลล์ และพลังงานทางเลือกที่เป็นพลังงานสะอาดด้านอื่น ๆ สามารถนำมาเป็นบัฟเฟอร์ในการเพิ่มไซส์ของการผลิตไฟฟ้าได้อีกส่วนหนึ่ง”

ทั้งหมดคือมุมมองและแนวคิดในการนำพากิจการ “อีโวลท์ เทคโนโลยี” ให้เติบโตอย่างยั่งยืนคู่กับพลังงานทางเลือกที่สะอาดและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ของ คุณ พูนพัฒน์ โลหารชุน ประธานกรรมการบริหาร บริษัท อีโวลท์ เทคโนโลยี จำกัด 

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้