Last updated: 22 ส.ค. 2566 | 475 จำนวนผู้เข้าชม |
เรื่อง : อรรถ
คำตอบคือ ใช้เวลาแค่ 6 ปีก็สำเร็จ!!
ในปี 2016 รัฐบาลนอร์เวย์ประกาศว่า ใน 10 ปี รถทุกคันในนอร์เวย์ จะปล่อยมลพิษเป็นศูนย์! ย้อนไป 6 ปีที่ผ่านมา จะมีใครเชื่อบ้างว่า นอร์เวย์ จะทำสำเร็จ? แต่ในปี 2022 ตัวเลขอย่างเป็นทางการได้เปิดเผยออกมาแล้วว่า รถยนต์ในนอร์เวย์ ร้อยละ 79.3 เป็นรถยนต์ไฟฟ้าไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ที่นอร์เวย์ทำได้สำเร็จ มีเหตุผลเดียว คือ รัฐบาลนอร์เวย์ เอาจริงเอาจังกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้มาก โดยให้สิทธิพิเศษทุกอย่างกับคนที่เปลี่ยนจากรถยนต์สันดาปภายในเป็นรถยนต์ไฟฟ้า อาทิ การไม่เก็บภาษีรถยนต์ไฟฟ้าเลย...ย้ำว่า “ไม่เก็บภาษีเลย” แถมให้ใช้เส้นทางที่ต้องมีค่าใช้จ่าย (เช่นทางด่วน) ฟรี ตลอดสาย และให้สิทธิรถยนต์ไฟฟ้าวิ่งใน Bus Lane รวมทั้งให้สิทธิจอดรถฟรีอีกต่างหาก
เหนือสิ่งอื่นใด รัฐบาลนอร์เวย์ให้ความสำคัญกับการเปิดจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มากถึง 5,600 จุด ตั้งแต่เหนือจรดใต้ บนเส้นทางกว่า 1,700 กิโลเมตร ทำให้คนนอร์เวย์ยิ่งมั่นใจกับการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไม่ต้องกังวลว่า จะไม่สามารถเดินทางไปสู่จุดหมายได้ และนั่นเองทำให้ระยะเวลาเพียง 6 ปี ประชากรชาวนอร์เวย์ไม่นิยมซื้อรถสันดาปภายในอีกเลย และรถใหม่ทุกๆ คันที่ออกมาวิ่งบนถนน ล้วนแล้วแต่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าแทบทั้งสิ้น
และจากสถิติของ Opplysningsrådet for Veitrafikken (สหพันธ์ท้องถนนนอร์เวย์ - Norwegian Road Federation) พบว่า ในปี 2022 รถยนต์ที่ขายดีที่สุดในนอร์เวย์คือ Tesla Model Y รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติอเมริกัน ที่ทำยอดขายไปได้ 17,356 คัน ตามมาด้วย Volkswagen ID.4 รถยนต์ไฟฟ้าสัญชาติเยอรมัน ที่ทำยอดขายไปได้ 11,561 คัน
จากตัวเลขนี้เอง ทำให้เชื่อได้ว่าในปี 2025 (หรืออีกแค่ 2 ปีข้างหน้า) ไม่ใช่เรื่องยากที่นอร์เวย์ จะเป็นประเทศแรกในโลกที่รถยนต์ที่วิ่งบนท้องถนนทุกคันเป็นรถยนต์ไฟฟ้า (ยิ่งมีรถใช้น้ำมันน้อยเท่าไหร่ ปั๊มน้ำมันยิ่งไม่สามารถดำเนินธุรกิจได้ และต้องทยอยปิดตัวลง และเมื่อไม่มีปั๊มน้ำมันเพียงพอ สุดท้ายรถยนต์สันดาปภายในก็ต้องหมดไปโดยปริยาย เพราะหาที่เติมน้ำมันไม่ได้)
ย้อนกลับมาดูในประเทศไทยบ้าง สถิติจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยที่รวบรวมข้อมูลจากกรมการขนส่งทางบก พบว่า จำนวนยานยนต์จดทะเบียนใหม่ที่ใช้ไฟฟ้าแบบ 100 เปอร์เซ็นต์หรือ BEV ทุกประเภท จนถึงเดือนสิ้นเดือนมกราคม 2566 มีจำนวนทั้งสิ้น 36,775 คัน ตัวเลขที่เติบโตก้าวกระโดดเป็นผลจากแรงผลักดันด้วยมาตรการของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราภาษีรถตาม พ.ร.บ.รถยนต์ประจำปีลงร้อยละ 80 เป็นเวลา 1 ปี นับแต่วันที่จดทะเบียน สำหรับรถยนต์จดทะเบียนระหว่าง 1 ตุลาคม 2565 ถึง 30 กันยายน 2568 หรือการยกเว้นภาษีนำเข้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2568
รวมทั้งมาตรการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยการให้เงินอุดหนุนรถยนต์และรถกระบะคันละ 70,000 – 150,000 บาทต่อคัน รถจักรยานยนต์ 18,000 บาทต่อคัน ลดภาษีสรรพสามิตรถยนต์จาก 8 เปอร์เซ็นต์ เป็น 2 เปอร์เซ็นต์ และรถกระบะเป็น 0 เปอร์เซ็นต์ ลดอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตต่างประเทศและนำเข้าทั้งคัน (CBU) สูงสุด 40 เปอร์เซ็นต์ สำหรับรถยนต์ถึงปี 2566 รวมถึงยกเว้นอากรขาเข้ารถยนต์ที่ผลิตในประเทศ (CKD) จำนวน 9 รายการ ก็ทำให้ยอดขาย 10 เดือนแรกของปี 2565 ทำสถิติสูงเกินกว่ายอดชายสะสมย้อนหลังรวมกัน 10 ปีซะอีก
คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่า แรงผลักดันสำคัญนอกจากค่าเชื้อเพลิงที่ปรับตัวขึ้นลงอย่างผันผวนแล้วนั้น ภาครัฐก็มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเติบโตของยานยนต์ไฟฟ้าอย่างมีนัยยะสำคัญ และ “ดีทรอย์แห่งเอเชีย” พร้อมแล้วหรือยังกับ ศตวรรษใหม่ของโลกยานยนต์