X

ตรวจดีเอ็นเอ JAC T8 EV กระบะไฟฟ้าสายพันธุ์จีน ขายทั่วโลกกว่า 4 แสนคัน ก่อนลุยตลาดไทย

Last updated: 21 ส.ค. 2566  |  2476 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ตรวจดีเอ็นเอ JAC T8 EV กระบะไฟฟ้าสายพันธุ์จีน ขายทั่วโลกกว่า 4 แสนคัน ก่อนลุยตลาดไทย

สภาพตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่ร้อนแรงอยู่ในขณะนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังคงจำกัดวงอยู่ที่ตลาดรถยนต์นั่งส่วนบุคคล ในส่วนของรถยนต์ประเภทอื่นโดยเฉพาะรถกระบะไฟฟ้าที่ยังไม่มีอะไรน่าตื่นเต้น เพราะมีการเปิดตัวแนะนำสู่ตลาดประเทศไทยอย่างเป็นทางการเพียงแค่แบรนด์เดียว

สาเหตุที่ตลาดรถยนต์กระบะไฟฟ้ายังค่อนข้างนิ่ง เป็นเพราะค่ายรถยนต์รายใหญ่ยังไม่ส่งสินค้าในกลุ่มนี้แนะนำเข้าสู่ตลาด ทั้งๆ ที่ผู้ใช้รถกระบะโดยเฉพาะในกลุ่มขนส่งมีความต้องการใช้รถอีวีเหมือนเช่นผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา บริษัท ไทยอีวี จำกัด ได้นำรถกระบะไฟฟ้า JAC T8 EV จากประเทศจีนแนะนำสู่ตลาดเมืองไทยในรูปแบบบีทูบีเน้นจำหน่ายให้ลูกค้าหน่วยงานรัฐและเอกชน และประสบความสำเร็จชนะการประมูลโครงการของการไฟฟ้านครหลวงจำนวน 40 คัน

ความสำเร็จดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการรุกตลาดรถกระบะไฟฟ้าในรูปแบบฟลีตทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน รวมทั้งผู้สนใจเป็นเอเย่นต์ โดยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในงานบางกอก มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 44

ส่วนรายละเอียดและที่มาของรถกระบะ JAC T8 EV จะเป็นอย่างไร? ติดตามได้จากสัมภาษณ์พิเศษ คุณนาทพล อินทร์ทวี ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัท ไทยอีวี จำกัด

 

รถกระบะไฟฟ้า JAC เป็นรถนำเข้าหรือแบรนด์ของคนไทย

เป็นรถที่ไทยอีวีนำเข้าจากประเทศจีนยี่ห้อ JAC ซึ่งส่งปิกอัพไฟฟ้าไปจำหน่ายทั่วโลก ทั้งในประเทศสหรัฐอเมริกา ยุโรป แอฟริกา ออสเตรเลีย และอินเดีย ถัดจากนั้นก็เป็นประเทศไทย

เป็นรถนำเข้าทั้งคัน ไม่ได้นำเข้ามาประกอบในไทย

นำเข้าทั้งคัน จะมีบางส่วนที่จะต้องปรับปรุงให้เข้ากับกฎหมายไทย เช่นระบบชาร์จไฟหัวชาร์จของจีนจะเป็น GB ทั้งประเทศ แต่ของบ้านเราสมอ.กำหนดให้เป็น CCS TYPE 2 ให้ใช้ได้ทั้งไฟเอซี และดีซี หรือชาร์จได้ทั้งสโลว์ชาร์จ และฟาสต์ชาร์จ

พวงมาลัยขวาทำมาจากจีนเลยใช่ไหม

มาจากจีนเลยครับ เป็นพวงมาลัยขวาที่ผลิตส่งไปจำหน่ายในประเทศออสเตรเลีย อินโด เนปาล และอินเดีย จะใช้กระบะไฟฟ้าแบรนด์นี้กันทั้งหมด ตอนนี้ JAC มียอดจำหน่ายทั่วโลกประมาณ 4 แสนคัน ปลายปีนี้จีนเขาจะปรับโฉมใหม่ให้ดูไฮเอ็นด์กว่าเดิม จะเป็นรุ่น T9 สำหรับรุ่นที่เรานำเข้าจำหน่ายอยู่นี้ตอนนี้เป็นรุ่น T8



ไทยอีวีเป็นตัวแทนจำหน่ายให้เขา

เราเป็นดีสทริบิวเตอร์ให้หลายๆ แบรนด์ ทางบริษัทพยายามคัดเลือกรถอีวีที่มีคุณภาพ ตอนนี้มีอยู่ห้าแบรนด์ที่มีจุดแข็งของแต่ละโมเดลมาจำหน่าย เพราะว่าแต่ละแบรนด์ในจีนก็มีจุดแข็งต่างกัน รถไซส์กลางจะเป็นแบรนด์นึง รถใหญ่เฮฟวี่ดิวตี้ก็จะเป็นอีกแบรนด์นึง บริษัทเราจะมีวิศวกรอย่างน้อยสิบกว่าคน ที่มาคอยซัพพอร์ตเรื่องพวกนี้ เพราะว่ารถอีวีส่วนใหญ่การแมนเทอร์แนนท์ไม่ค่อยจุกจิก ช่วงล่างก็ปกติ แต่ว่าเป็นระบบไฟฟ้ากับข้อมูลบีเอ็มเอสพวกนี้ ที่มันจะสื่อสารกันระหว่างตู้ชาร์จกับตัวรถ แบตเตอรี่ ให้มันดูสมู้ท ทางวิศวไฟฟ้าก็จะคอยดูแลในส่วนนี้

JAC ใช้แบตเตอรี่ความจุเท่าไหร่ วิ่งได้ไกลกี่กิโลเมตร

JAC T8 EV เป็นรถกระบะไฟฟ้า 100% สเปคก็จะเป็นแบตเตอรี่ ลิเธียมไอออน ความจุ 65.3 กิโลวัตต์ มอเตอร์อยู่ที่ 70/150 มีกำลัง 201 แรงม้า วิ่งได้ระยะทาง 330 กม.ต่อ 1 ชาร์จ อัตราการกินไฟอยู่ที่ 0.8 สตางค์ ก็คือ 100 กม. ค่าไฟอยู่ที่ 80 บาท หรือกิโลละ  80 สตางค์ ถ้าเทียบกับปิกอัพทั่วไปจ่ายค่าน้ำมันอยู่ที่ 3.4 บาทต่อกม.เท่ากับประหยัดกว่าประมาณ 3-4 เท่า



ราคาอยู่ที่คันละเท่าไหร่

ล้านต้นๆ เริ่มนำเข้ามาทำตลาดตั้งแต่เดือนมีนาคมปีที่แล้ว แต่เพิ่งนำเปิดตัวครั้งแรกในงานมอเตอร์โชว์ครั้งนี้ เน้นทำตลาดแบบบีทูบี มุ่งทำตลาดขายให้หน่วยงานของรัฐและเอกชน หรือเอเย่นต์ขายรถ

ทำตลาดมาได้พักนึงแล้ว เสียงตอบรับดีไหม

มีหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ และเอกชนสนใจ ล่าสุดไทยอีวีเพิ่งชนะการประมูลของการไฟฟ้านครหลวง น่าจะมีการส่งมอบรถกระบะอีวีกลางปีนี้ประมาณ 40 คัน คือการไฟฟ้านครหลวงจะเปลี่ยนรถของหน่วยงานเป็นไฟฟ้าทั้งหมด และตอนนี้เขาเริ่มเปลี่ยนไปใช้รถตู้ไฟฟ้าเล็ก มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเล็ก และก็เป็นปิกอัพไฟฟ้า จากนั้นก็จะขยับเป็นรถตู้ใหญ่ไฟฟ้า และรถทรัคที่ใช้ซ่อมระบบไฟฟ้าก็จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าทั้งหมด ส่วนการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะเปลี่ยนรถบัสเป็นบัสไฟฟ้า



นอกจากการไฟฟ้านครหลวง แล้วมีที่ไหนอีกบ้าง

การไฟฟ้านครหลวงเป็นหน่วยงานแรกที่เลือกใช้รถกระบะรุ่นนี้ หน่วยงานอื่นจะค่อยๆ ตามมาทีหลัง สำหรับหน่วยงานอื่นที่กำลังคุยกันอยู่นั้น เราเน้นคุยกับองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)

องค์กรเอกชนล่ะ มีคุยกับที่ไหนบ้าง

เอกชนมีสนใจหลายที่ เดิมเมื่อสี่ปีที่แล้วที่เราทำรถบัสไฟฟ้า พอทัวร์จีนดาวน์ลง ก็เลยเปลี่ยนเทรนด์มาเป็นรถเพื่อการพาณิชย์คือเป็นรถขนส่ง เริ่มทำตลาดๆจริงๆ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว มีไปเชิญผู้บริหารโลจิสติกส์ ของทางปตท.และทีเอ็นทีมาทำ ก็เลยได้เครือข่ายที่ใช้รถบรรทุกหกล้อ ตอนนี้มีประมาณ 50 คัน เยอะที่สุดก็จะเป็นไทยวัสดุ เป็นรถพ่วงที่เป็นหกล้อ ประมาณยี่สิบคัน นอกจากนั้นก็มี DHL FedEx ไทยเบฟเวอเรจ สหพัฒน์ ไทยน้ำทิพย์ และบริษัทโลจิสติกซ์อีกหลายแห่ง อย่างซีพีก็สั่งรถจากเรา 2 รุ่น เป็นรถบรรทุก 4 ล้อจัมโบ้ และรถหกล้อ



รถขนส่งของ DHL ที่เค้าโปรโมทใช้รถของไทยอีวี

ใช่ครับ DHL เขาใช้ทั้งหมด 2 ไซส์ จะมีเป็นรถบรรทุก 6 ล้อ และรถตู้ ที่บริษัทฯก็จะมีให้เลือกตั้งแต่รถ 2 ตัน 3 ตัน 4 ตัน เป็นสี่ล้อจัมโบ้ และก็ขยับขึ้นไปเป็นรถหกล้อ ตั้งแต่หกล้อกลาง หกล้อเล็ก หกล้อใหญ่ และก็สิบล้อ ปัจจุบันนี้เรามีใหญ่สุด 90 ตัน ตอนนี้ทีพีไอใช้อยู่ที่โรงปูน 14 คัน รถบรรทุกไฟฟ้ามีข้อดีตรงทำให้เขาเซฟค่าไฟได้เดือนละ 2 แสนบาท เขาก็เลยแฮปปี้ที่จะเปลี่ยนมาเป็นใช้รถบรรทุกไฟฟ้า และพวกรถโกกรีนอะไรพวกนี้

รถกระบะ JAC ตอนนี้มีจำหน่ายรุ่นเดียวใช่ไหม

ตอนนี้มีรุ่นเดียว JAC T8 แต่ปลายปีจะมีรถกระบะตอนเดียว  Single Cab เข้ามาจำหน่าย ราคาจะถูกลง



การรับประกันมีอะไรบ้าง

เรารับประกันแบตเตอรี่ และมอเตอร์ 5 ปี 200,000 กิโลเมตร ถ้าหากมีปัญหาในช่วง 5 ปีแรก เราเปลี่ยนให้เลย โดยปกติแล้วแบตเตอรี่ 3,000 Cycle จะมีอายุใช้งานประมาณ 10 ปี ซึ่งมันจะดร็อปลงแค่ 10% อีกอย่างหนึ่งแบตเตอรี่สามารถเอามาฟื้นฟูเซลล์ หรือเปลี่ยนเซลล์ใหม่ได้ ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่ทั้งลูก ซึ่งจะมีราคาสูง

เฉพาะราคาแบตเตอรี่เท่าไหร่

ราคาประมาณครึ่งหนึ่งของตัวรถ แต่ถ้านำมาคำนวณกับค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงที่ลดลงมันคุ้มค่า ถ้าวิ่งวันละ 300 กิโลเมตร จะรีเทิร์นไวหน่อย หากเป็นในรถใหญ่อย่างรถหกล้อจะคืนทุนที่ระยะเวลา 3 ปี 8 เดือน เพราะค่าชาร์จไฟฟ้าถูกกว่าน้ำมัน ค่าไฟฟ้ากิโลวัตต์ละ 3.50-4.50 บาท แล้วแต่กลางวันกลางคืน รถเล็กอัตรากินจะน้อยกว่ารถใหญ่ ฉะนั้นถ้ายิ่งวิ่งเยอะ ยิ่งคุ้มทุนเร็ว ค่าแมนเทอร์แนนท์ก็ถูกว่าสามเท่า ถ้าซ่อมรถดีเซล 1,500 บาท ถ้าเป็นรถไฟฟ้าซ่อมแค่ 500 บาท

ถ้าเทียบกับรถกระบะไฟฟ้ากับน้ำมัน รถไฟฟ้าอุปกรณ์การซ่อม และอะไหล่น้อยกว่า

น้อยกว่าจากอะไหล่ 2 พันชิ้น ลดลงเหลือแค่ประมาณ 26 ชิ้น เพราะจะไม่มีชิ้นส่วนของเครื่องยนต์



สมรรถนะสู้รถน้ำมันได้

สู้ได้ครับ

ช่างไทยซ่อมได้

ณ ปัจจุบันยังไม่เจอปัญหาลักษณะที่ซ่อมไม่ได้ ด้านการซ่อมบำรุงยังเป็นแบบออนไซส์เซอร์วิส คาดว่าภายในสิ้นปีนี้ต้องมีดีลเลอร์อย่างน้อย 5 แห่ง ก็จะมีส่วนมาช่วยเรื่องการเซอร์วิส

ตอนนี้สามารถประกันได้กับบริษัทประภัยใดบ้าง

ตอนนี้กำลังคุยกับทางภัทรประกันภัย และวิริยะประกันภัย ต้องใช้เวลาอยู่บ้างเพราะเขาต้องดูพาร์ททุกชิ้นว่าจำหน่ายราคาเท่าไหร่ บริษัทมีสแปร์พาร์อยู่เท่าไหร่ ราคารถเมื่อใช้ไปหลายๆ มีมูลค่าเท่าไหร่ เขากำลังทำการบ้านอยู่ครับ

ปัจจุบันต้องจ่ายค่าเบื้ยประกันปีละเท่าไหร่

ถ้าเป็นชั้นหนึ่ง JAC น่าจะอยู่ที่ประมาณสามหมื่นกว่าบาท เป็นการเทียบเคียงกับรถตู้ไฟฟ้า



คิดว่าอะไรคือจุดแข็งของไทยอีวี

เราเริ่มต้นทำตลาดจริงๆ เมื่อเดือนมีนาคมปีที่แล้ว ตอนนี้มียอดจองเข้ามาแล้วของการไฟฟ้านครหลวงทำให้เราเปิดตลาดได้ค่อนข้างเร็ว เพราะว่าทางผู้บริหารที่เป็นโลจิสติกส์อยู่เดิมเขามาจอยกับเรา แล้วก็มีเครือข่ายลูกค้าทางบริษัทขนส่ง ประกอบกับบริษัทมีจุดแข็งมีรถขนส่งไฟฟ้าครบทุกเซ็กเมนท์ มีแบตเตอรี่ BMS และมีซอฟท์แวร์บริหารจัดการด้านการชาร์จ รถคันไหนต้องเข้าเติม มีคิวเข้าเติมเมื่อไหร่ ออกเมื่อไหร่

องค์ประกอบทั้งสามทำให้เราโตเร็วมากในปีที่ผ่านมา เรียกว่าส่งมอบรถไม่ทันกับออเดอร์ที่ต้องการ อย่างซีพี และหลายๆ บริษัทก็ถามว่าทำไมดีเลย์ ยอมรับปีที่แล้วก็ดีเลย์พอสมควร เกี่ยวกับภาวะแบตเตอรี่ ทำให้เราทำยอดรถโดยรวมไปได้ 50 คัน เป็นรถทุกเซ็กเมนท์รวมกัน มีตั้งแต่รถตู้ รถหกล้อ สี่ล้อเล็ก หกล้อกลาง หกล้อใหญ่ จนถึงสิบล้อ ซึ่งเป็นของยูนิลีเวอร์ ไปขนไอศกรีมวอลล์ 3 คัน รถของสหพัฒน์ก็มี

ปีนี้วางเป้าหมายยอดขายจำนวนกี่คัน

วางเป้าไว้ประมาณพันคัน เป็นหน่วยงานเอกชน 700 และราชการ 300 คัน ตอนนี้เริ่มเข้าไตรมาสสองแล้ว คิดว่าไตรมาสที่สามน่าจะมียอดขายเพิ่มมากขึ้น



ความเป็นมาของบริษัท ไทยอีวี จำกัด
ผู้นำเข้ากระบะ JAC T8 EV ลุยตลาดไทย

ชื่อของบริษัท ไทยอีวี จำกัด อาจจะค่อนข้างใหม่ในวงการรถยนต์ แต่ถ้าหากเป็นวงการขนส่ง หลายคนอาจจะรู้จักไทยอีวีมาตั้งแต่ปี 2562 ในฐานะผู้นำรถโดยสารปรับอากาศไฟฟ้ายี่ห้อ Thai EV รุ่น EV-L1 ขนาด 8.5 เมตร 24 ที่นั่ง ขับเคลื่อนด้วยมอเตอร์ไฟฟ้า ขนาด 150 kw ทดลองวิ่งให้บริการเส้นทางเดินรถของ ขสมก.จำนวน 3 เส้นทาง



เมื่อประมาณปี 2564 ไทยอีวี เป็นที่รู้จักในฐานะผู้ปั้นแบรนด์รถไฟฟ้าหกล้อ EVO รายแรกของประเทศไทยที่สามารถใช้งานได้จริงโดยเป็นผู้นำเข้ารถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทซัพพลายให้กับลูกค้าหน่วยและองค์กรของภาครัฐและเอกชนเป็นหลักช่วงเวลานั้นบริษัทได้มีการเปิดตัวแบบ Full Lineup ตั้งแต่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถแวน หรือรถตู้ไฟฟ้า และตู้ชาร์จ (Charging Station) โดยได้ทำการวางระบบชาร์จไว้ตามสถานที่ต่างๆ ที่ตอบโจทย์การทำงานในอุตสาหกรรมด้านโลจิสติกส์ เช่น ชลบุรี อยุธยา เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้