Last updated: 20 ส.ค. 2566 | 716 จำนวนผู้เข้าชม |
“ซีแพค” ผสานความร่วมมือ “วัน แบงค็อก” ยกระดับมาตรฐานก่อสร้างของไทยนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า “CPAC EV Mixer Truck” มาเริ่มใช้ที่โครงการวัน แบงค็อก เป็นที่แรกในประเทศไทย ตอกย้ำจุดยืนด้านงานก่อสร้างสีเขียว Green Construction ชูจุดเด่นนำนวัตกรรมพลังงานสะอาดมาใช้ในการขนส่งคอนกรีตตามแนวคิดการขนส่งสีเขียว (Green Fleet) มุ่งมั่นเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดผลกระทบมลพิษทางสิ่งแวดล้อม และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่ความยั่งยืนเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล
นายนิธิ ภัทรโชค กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี เปิดเผยว่า ซีแพค (CPAC) มีแนวทางดำเนินธุรกิจสู่การเป็น Green Construction โดยมีเป้าหมายยกระดับมาตรฐานงานก่อสร้างของประเทศไทย สร้างความยั่งยืนและการเติบโตในระยะยาวควบคู่กับการคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (Environment) คุณภาพชีวิตของคน ในสังคม (Social) โดยมีบรรษัทภิบาล (Governance) ตามแนวทาง ESG 4 Plus ของเอสซีจี ได้แก่ มุ่ง Net Zero, Go Green, Lean เหลื่อมล้ำ และย้ำร่วมมือ และจากความตั้งใจที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาและดูแลสิ่งแวดล้อมในการลดผลกระทบจากฝุ่น PM 2.5 และปัญหาโลกร้อนจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
ล่าสุด ซีแพค ได้ร่วมมือกับ วัน แบงค็อก นำรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck เข้ามาใช้ในการขนส่งคอนกรีตในโครงการฯ ด้วยวิสัยทัศน์การดำเนินงานที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ที่ผ่านมาทั้ง 2 บริษัทฯ ได้มีการวางแผนงานร่วมกันมาโดยตลอด โดยซีแพคได้เข้าไปดูแลตั้งแต่การเทคอนกรีตฐานรากโครงสร้างอาคาร (Mat Foundation) และได้เลือกใช้คอนกรีตความร้อนต่ำ (CPAC Low Heat Concrete) เป็นคอนกรีตที่มีส่วนช่วยลดโลกร้อน (Low Carbon Concrete) รวมถึงมีการขนส่งคอนกรีตภายในไซต์งานก่อสร้าง ซึ่งบริษัทฯ รู้สึกภูมิใจและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และหวังว่าจะได้รับความร่วมมือกับทาง “วัน แบงค็อก” ต่อไปเพื่อร่วมกันสร้างสรรค์อุตสาหกรรมก่อสร้างสีเขียวในอนาคต”
นายนิธิ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สำหรับรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ถือเป็นก้าวแรกที่จะนำไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2593 (2050) ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเป็นการใช้พลังงานไฟฟ้าซึ่งเป็นพลังงานสะอาดเข้ามาใช้ในการขับเคลื่อนแทนน้ำมันดีเซล ทั้งนี้เมื่อเปรียบเทียบในการใช้งานแล้ว รถโม่พลังงานไฟฟ้าสามารถลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 และ PM 10 ได้ถึง 45 กรัมต่อการขนส่ง 1 เที่ยว ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) กลุ่มก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ได้ถึง 26.5 ตัน/ปี/คัน หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ได้เพิ่มขึ้น 2,800 ต้น/ปี/คัน
การดำเนินงานครั้งนี้นับเป็นความตั้งใจและความรับผิดชอบที่มีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาซีแพคยึดตามแนวทางนี้มาใช้ในการดำเนินธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain ตั้งแต่โรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ที่มีการนำลมร้อนเหลือทิ้งจากกระบวนการผลิตมาผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ในโรงงานปูนซีเมนต์ (Waste Heat Power Generator) การใช้รถโฟล์คลิฟท์ไฟฟ้าสำหรับขนส่งภายในโรงงาน และการพัฒนาปูนซีเมนต์ที่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก มาใช้ทดแทนปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ มาจนถึงการผลิต Low Carbon Concrete คอนกรีตคาร์บอนต่ำอีกด้วย”
ด้าน นายชนะ ภูมี Vice President Sustainability SCG กล่าวว่า “ในการทำเรื่อง Net Zero ให้ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้นั้น หัวใจสำคัญคือการต้องลงมือทำ ความร่วมมือกับโครงการวัน แบงค็อก นับเป็น Use case ของการทำ Green Construction โดยใช้ปูนซีเมนต์และรถโม่ปูนพลังงานไฟฟ้าที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก สามารถพิสูจน์ให้เห็นได้ว่า Energy transition ของเอสซีจีสามารถช่วยลดก๊าซคาร์บอนออกไซด์ โดยเรามีเป้าหมายที่ชัดเจนในการที่จะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 40% ในปี พ.ศ.2573 (2030) ทั้งนี้การผลักดันเข้าสู่สังคม Net Zero จำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกภาคส่วนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อช่วยกันยกระดับอุตสาหกรรมก่อสร้างของไทยสู่มาตรฐานระดับสากล”
ขณะที่ นายวรวรรต ศรีสอ้าน รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โครงการวัน แบงค็อก (One Bangkok) กล่าวถึงความร่วมมือในครั้งนี้ว่า “วัน แบงค็อก” มุ่งสู่การเป็นต้นแบบของการกำหนดมาตรฐานใหม่ในด้านการก่อสร้างแบบยั่งยืนในประเทศไทย ตลอดจนการเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่จะมีส่วนร่วมในการสร้างอนาคตที่ดีขึ้น โดยได้ร่วมมือกับ “เอสซีจี” และ “ซีแพค” เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์และมีวิสัยทัศน์ร่วมกันในการสร้างคุณค่าด้วยการวางแนวปฏิบัติภายใต้หลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon)
ที่ผ่านมา วัน แบงค็อก, “เอสซีจี” ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการบริหารการก่อสร้างโครงการอย่างยั่งยืน ทั้งหมด 4 ฉบับ ได้แก่ การนำเศษคอนกรีตจากการตัดเสาหัวเข็มที่เหลือใช้มารีไซเคิลเพื่อผลิตผนังหล่อสำเร็จรูป, การนำอิฐมวลเบาที่เหลือใช้จากการก่อสร้างมารีไซเคิลและผลิตเป็นแผ่นผนังกันเสียงคิวคอน (Q-CON Sound Barrier) เพื่อใช้ในบริเวณผนังอุโมงค์ทางลอดเข้าโครงการฯ, การจัดการขยะที่เกิดจากการก่อสร้างโครงการแบบองค์รวม และ การจัดการเศษอาหารด้วยเครื่องย่อยเศษอาหารให้กลายเป็นปุ๋ย ครั้งนี้การนำรถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck เข้ามาใช้ในโครงการฯ จะช่วยลดปัญหาเรื่องสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะเรื่องฝุ่นที่เกิดจากการก่อสร้าง ทั้งยังเป็นการช่วยประหยัดพลังงานอีกด้วย”
ผลจากการดำเนินงานจากการนำ “รถโม่พลังงานไฟฟ้า” เข้ามาใช้ขนส่งคอนกรีตภายในไซต์งานแทนรถโม่ธรรมดา พบว่าถ้าใช้รถโม่พลังงานไฟฟ้า CPAC EV Mixer Truck ประมาณ 1,800 เที่ยว/คัน สามารถช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้สูงถึง 49,000 kg./(CO2) หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ได้ 5,210 ต้น นับเป็นอีกหนึ่งแนวทางที่จะช่วยสนับสนุนดำเนินงานให้เป็นไปตามเป้าหมายตามนโยบายการดูแลสิ่งแวดล้อมที่วางไว้
3 ก.ย. 2567