X

จุฬาฯเตรียมปรับโหมด “ยานยนต์ไฟฟ้า 5G อัจฉริยะไร้คนขับ” สู่การใช้งานจริง

Last updated: 29 ธ.ค. 2566  |  20377 จำนวนผู้เข้าชม  | 

จุฬาฯเตรียมปรับโหมด “ยานยนต์ไฟฟ้า 5G อัจฉริยะไร้คนขับ” สู่การใช้งานจริง

โครงการ “ยานยนต์ไฟฟ้า 5G อัจฉริยะไร้คนขับ” ของคณะวิศวฯ จุฬาฯ เตรียมต่อยอดสู่การทดสอบให้ผู้โดยสารนั่งจริง หลังประสบความสำเร็จจากการทดสอบการใช้งานผ่านระบบ 5G ได้ตามเป้าหมาย

ผศ.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เปิดเผยถึงผลการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับยานยนต์ไร้คนขับว่า สามารถพัฒนารถต้นแบบที่ทำงานผ่านระบบ 5G ได้ตามเป้าหมาย โดยรถสามารถวิ่งรับ-ส่งผู้โดยสารได้โดยอัตโนมัติ สามารถเข้าจอดตามป้ายได้โดยไม่มีคนขับ แต่ยังคงต้องมีคนคอยกำกับดูแลความเรียบร้อยขณะรถเข้า-ออกจากป้าย และการเปิด-ปิดประตู ถ้ามีเหตุการณ์ที่ประเมินว่าจะไม่ปลอดภัย คนจะเข้าไปควบคุมรถแทน

“ที่ผ่านมาเป็นการทดลองวิ่งในจุฬาฯ ฝั่งหอประชุมใหญ่ โดยจะเน้นทดสอบการทำงานของระบบต่างๆ การสื่อสารของตัวรถ แต่ยังไม่ได้ทดสอบเวลามีผู้โดยสารนั่งจริงๆ  ดังนั้นในขั้นตอนต่อไปจะมีการทดสอบว่าถ้ามีผู้โดยสารนั่งในรถยนต์ไร้คนขับจริงผลจะออกมาเป็นอย่างไร”

ผศ.นักสิทธ์ เปิดเผยถึงแนวทางของโครงการทดสอบระยะต่อไปว่าจะเป็นการให้นักวิจัย นักเรียน และนักศึกษามานั่งโดยสารจริง แล้วสอบถามข้อมูล เมื่อได้ฟีดแบ็คก็จะนำมาปรับปรุงให้ได้รับการยอมรับทั้งในด้านความปลอดภัยและการให้บริการ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการหาทุนมาทำการทดสอบระยะต่อไป คาดว่าเร็วๆนี้จะได้ทดลองวิ่งแบบมีผู้โดยสารจริง

ปัจจุบันจุฬาฯมีรถต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า 5G ไร้คนขับอยู่ 2 คัน เบื้องต้นผ่านการทดลองวิ่งใช้งานมาประมาณ 1 ปี วิ่งจากฝั่งหอประชุมใหญ่ไปคณะบัญชี เพราะจะมีคนขึ้นจากสถานีรถไฟฟ้าใต้ดินจามจุรีสแควร์ จากนั้นวิ่งไปทางคณะสถาปัตยกรรม และอักษรศาสตร์ ในการทดลองใช้งานจริงจะวิ่งไปทางคณะบัญชี แล้ววนกลับทางคณะสถาปัตย์ อักษรฯ แล้วกลับมาทางคณะวิศวกรรมศาสตร์

“ที่กำหนดเส้นทางให้วิ่งเฉพาะในพื้นที่ของจุฬาฯเพราะยังเป็นเทคโนโลยีที่ไม่มีกฎหมายรองรับ ขั้นตอนต่อไปจะพิจารณาต่อยอดไปสู่รถรูปแบบอื่น อาจจะพัฒนารถบัส 5G ที่จอดรับผู้โดยสารตามป้าย และสามารถเรียกผ่านแอพพลิเคชั่นได้ ส่วนการพัฒนาในเชิงพาณิชย์นั้นอาจจะต้องทำในรูปแบบสตาร์ทอัพ เพราะถ้าทำในรูปแบบการวิจัยต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง เป็นสิ่งที่กำลังพิจารณาดูความเหมาะสมอยู่”

ทั้งนี้ โครงการทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ เป็นโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กสทช. เป็นระยะเวลา 2 ปี ผ่านกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เพื่อผลักดันให้มีการนำระบบ 5G มาประยุกต์ใช้  โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ได้รับทุน และร่วมมือกับ Smart Mobility Research Center (Smart MOBI) และ AIS 5G มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนได้รถต้นแบบที่ทำงานผ่านระบบ 5G ตามเป้าหมาย

โครงการ “ยานยนต์ไฟฟ้า 5G อัจฉริยะไร้คนขับ”,จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย,ผศ.นักสิทธ์ นุ่มวงษ์, Smart Mobility Research Center (Smart MOBI),กสทช.,กทปส.,ยานยนต์ไร้คนขับ,AIS,ยานยนต์ไฟฟ้า 5G

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้