X

สลับแบตฯข้ามแบรนด์! กลยุทธ์พลิกโฉมตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าทั่วไทย

Last updated: 4 ต.ค. 2566  |  1449 จำนวนผู้เข้าชม  | 

สถานีสัมเปลี่ยนแบตสวทช.

สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC จับมือพันธมิตรภาครัฐและเอกชน 9 องค์กร ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดมาตรฐานกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สามารถสลับเปลี่ยนแบตเตอรี่ต่างแบรนด์ได้ หากทำสำเร็จจะเป็นการพลิกโฉมตลาดมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทยครั้งสำคัญ

สถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่นับเป็นทั้งความหวังและทางออกสำหรับผู้ใช้มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าที่จะช่วยให้การขับขี่เป็นไปอย่างราบรื่นและวิ่งได้ระยะทางที่สอดคล้องกับการใช้งานจริงบนท้องถนน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีความพยายามพัฒนาแพล็ตฟอร์มสถานีสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของผู้ประกอบการหลายๆ ราย แต่ก็เป็นการพัฒนาที่จำกัด เป็นการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ที่จำเพาะเจาะจงแบรนด์ใดแบรนด์หนึ่ง ไม่สามารถเปลี่ยนแบตเตอรี่ข้ามแบรนด์ได้

ล่าสุด สวทช. โดยศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ ENTEC ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐและเอกชน ได้ร่วมมือกันผลักดันให้เกิดมาตรฐานเทคนิคกลางระหว่างแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ตู้ประจุไฟฟ้า รวมถึงอุปกรณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ของมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าในประเทศไทย ส่งเสริมให้ผู้ให้บริการด้านแบตเตอรี่ มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และตู้ประจุไฟฟ้าในแต่ละราย สามารถดำเนินการระหว่างกันได้ผ่านมาตรฐานกลางที่วางไว้ ในรูปแบบโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย

โครงการดังกล่าว มีสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) เป็นผู้ให้ทุน และมีเอกชนเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท เบต้า เอ็นเนอร์ยี่ โซลูชั่น จำกัด บริษัท จีพี มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย บริษัท ไอ-มอเตอร์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด และบริษัท กริดวิซ (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้ให้ทุนร่วม รวมทั้งดำเนินการวิจัยและพัฒนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และมหาวิทยาลัยขอนแก่น

สำหรับโครงการต้นแบบที่เกิดขึ้น คือ ต้นแบบแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยน 1 รุ่น ที่ใช้งานกับต้นแบบมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า 2 รุ่น 2 ยี่ห้อ คือ GPX และ  i-motor  โดยมีต้นแบบสถานีสับเปลี่ยน 3 สถานี ซึ่งติดตั้งสถานีชาร์จที่บริเวณหน้าศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. ปั๊มน้ำมันบางจาก เอกมัย-รามอินทรา คู่ขนาน 4 กรุงเทพมหานคร และศูนย์การเรียนรู้ กฟผ. สำนักงานกลาง จ.นนทบุรี

การผนึกกำลังของทั้ง 9 หน่วยงาน มีเป้าหมายให้เกิดการพัฒนาระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในไทยจนออกมาเป็นผลสำเร็จ เพื่อให้แพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่สำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สามารถสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ลดค่าใช้จ่ายในการผลิต การถือครองมอเตอร์ไซค์ แพ็ก และสถานีประจุไฟฟ้า โดยการนำผลการทดสอบต้นแบบทั้งหมดจากข้อกำหนดร่วมในสภาวะการใช้งานจริง เพื่อจัดทำข้อเสนอแนะความเป็นไปได้ในการพัฒนาแพล็ตฟอร์มสำหรับประเทศไทยต่อไป

ทั้งนี้ “การทดสอบภาคสนามจากผลงานโครงการวิจัยและพัฒนาแพล็ตฟอร์มแพ็กแบตเตอรี่มาตรฐานแบบสับเปลี่ยนสำหรับมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ในประเทศไทย” ได้มีพิธีเปิดโครงการทดสอบอย่างเป็นทางการที่อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยมีศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธี พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม

ศาสตราจารย์ ดร.นิสัย เฟื่องเวโรจน์สกุล ผู้แทนผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) และอนุกรรมการแผนงานกลุ่มระบบคมนาคมแห่งอนาคต ดร.จุฬารัตน์ ตันประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สายงานกลยุทธ์องค์กร ดร.สุมิตรา จรสโรจน์กุล ผู้อำนวยการศูนย์เทคโนโลยีพลังงานแห่งชาติ (ENTEC) สวทช. ดร.พิมพา ลิ้มทองกุล หัวหน้าโครงการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน ณ ลานจอดรถ อาคารศูนย์ประชุมอุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย สวทช. อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้