Last updated: 14 ส.ค. 2566 | 3689 จำนวนผู้เข้าชม |
ต้องยอมรับกันว่าในยุคนี้ การจะหาซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่มาไว้ใช้สักคันไม่ใช่เรื่องยาก เพราะค่ายรถยนต์ทั้งจีน ยุโรป และญี่ปุ่น ต่างพากันส่งรถพลังงานไฟฟ้าเข้ามาช่วงชิงส่วนแบ่งตลาดในประเทศไทยกันอย่างคึกคัก
การเติบโตก้าวกระโดดของรถยนต์พลังงานสะอาด โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า 100% (BEV) ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มรถยนต์ใหม่ป้ายแดงเท่านั้น หากแต่ขยายขอบเขตไปถึงรถยนต์ใช้แล้วบางส่วน เพราะตอนนี้มีผู้ใช้รถยนต์จำนวนไม่น้อยสนใจนำรถยนต์ที่บ้านไปดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้า 100% (EV conversion) และมีการนำมาใช้งานจริงบนท้องถนนกันบ้างแล้ว
หลายคนอาจจะสงสัยว่าการยกเครื่องยนต์สันดาปภายในออกแล้วเปลี่ยนไปใช้มอเตอร์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่แล้ว จะได้สมรรถนะ ประสิทธิภาพ และความปลอดภัยเหมือนกับซื้อรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ป้ายแดงหรือไม่ อย่างไร?
คำตอบตรงนี้ ผศ.ดร.ปฐพีพัฒน์ เตชะลิ่มสกุล หรือ อาจารย์โดม Chief Technical Advisor ศูนย์ดัดแปลงและพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร Szhecter EV ได้ให้ความกระจ่างคลายข้อสงสัยว่า รถใช้น้ำมันดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้าจะได้ประสิทธิภาพและสมรรถนะเหมือนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่ป้ายแดง เพราะชิ้นส่วน (PART) และอุปกรณ์ที่นำมาดัดแปลงทุกชิ้นเป็นของใหม่จากโรงงาน เหมือนกับพาร์ทที่ใช้ในรถไฟฟ้าแบรนด์ระดับโลก จะแตกต่างที่ตัวถัง แต่ถ้าทำสีใหม่ และเปลี่ยนยางใหม่ ก็จะได้รถยนต์ไฟฟ้าคันใหม่ที่มีความเอ็กคลูซีพไม่เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าทั่วไป
ที่มั่นใจว่าทำรถดัดแปลงแล้วเหมือนได้รถใหม่เพราะรถยนต์คันเดิมที่นำมาดัดแปลงเป็นรถยนต์ไฟฟ้ากับ Szhecter EV จะได้รับการประกันอุปกรณ์ที่นำมาใช้แทนเครื่องยนต์สันดาป และมีไฟแนนท์รองรับ ส่วนของแบตเตอรี่รับประกัน 8 ปี หรือ 100,000 กิโลเมตร เหมือนรถยนต์ทั่วไป แต่มีข้อดีตรงที่เจ้าของรถสามารถเลือกได้ว่าต้องการพาร์ทแบรนด์ไหน เมื่อดัดแปลงรถออกมาแล้วเหมือนได้รถใหม่แต่ประหยัดค่าใช้จ่ายเชื้อเพลิงลง 3-4 เท่า และที่สำคัญ ตัวรถยังเป็นดีไซน์ใช่ และเป็นโมเดลที่ชอบ
“อาจารย์โดม” อธิบายถึงการดัดแปลง หรือ conversion ในขั้นตอนแรกต้องดูโมเดลรถก่อนว่าจะดัดแปลงรถยนต์รุ่นอะไร เป็นรถเอสยูวี กระบะ หรือซีดาน ฯลฯ ต้องประเมินอุปกรณ์เดิม ดูสภาพเครื่องยนต์ ตำแหน่งของเกียร์ เป็นเกียร์ลักษณะแบบไหน ดูช่วงล่าง ตำแหน่งเพลา คอนเพรสเซอร์แอร์ ระบบเบรก คันเร่ง และระบบไฟ รวมทั้งประเมินตัวโหลด น้ำหนัก และความจุกระบอกสูบของรถ เพื่อที่จะเลือกตัวกำลังของมอเตอร์ แบตเตอรี่ กล่องคอนโทรล และระบบ accessory ให้เหมาะสมกับรถคันนั้นมากที่สุด
หลังจากนั้น Szhecter EV จะใช้ทีมวิศวกร ประเมินและเลือกชนิดของมอเตอร์ คอนโทรลเลอร์ และแบตเตอรี่ โดยให้ความสำคัญกับการเลือกอุปกรณ์และแบตเตอรี่ที่มีมาตรฐานสูงที่สุดเทียบเท่าแบรนด์ระดับโลก ดังนั้นเมื่อดัดแปลงเสร็จแล้วจะเหมือนได้รถยนต์ใหม่ แต่ตัวบอดี้เป็นของรถยุโรปหรือรถเอเชียคันเดิม “พูดง่ายๆ ถ้าเปลี่ยนล้อกับทำสีใหม่ ก็เหมือนได้รถใหม่ในราคาที่เซฟลงมา สามารถประหยัดค่าเชื้อเพลิง และมีความปลอดภัย เพราะว่าการดัดแปลงควบคุมโดยวิศวกร และตรวจสอบโดยกรมขนส่งขนส่งทางบก ดังนั้นจึงวิ่งได้จริงบนท้องถนน” อาจารย์โดมยืนยัน
สำหรับรถ BMW คันนี้ ใช้มอเตอร์ขนาด 60 กิโลวัตต์ ทอล์ค 200 นิวตันเมตร เวลาเทสต์ก็พุ่งไปแตะระดับ 1000-2000 ส่วนแบตเตอรี่ลิเทียมเลือกใช้ของ CATL ขนาด 40-50 kWh ซึ่งเป็นแบตเตอรี่เกรดเดียวกับที่ใช้ในรถ BYD และเทสลา “จุดเด่นของเราคือมีโนฮาวรีเจนเนอร์เรทีฟ คือรถสามารถวิ่งไปชาร์จไป ดังนั้นแบตเตอรี่ขนาดเดียวกัน รถที่ดัดแปลงจากเราจะวิ่งได้ไกลกว่าประมาณ 15-20%” อาจารย์โดมระบุ
“การชาร์จขณะรถวิ่งจะชาร์จจากเอ็กซ์ตรีม รีเจนเนอร์ทีฟ คือจังหวะการเบรก จังหวะเกิดแรงสั่นสะเทือน จังหวะมีลมปะทะ และจังหวะการรับแสง และการเมเนจการบาลานซ์พลังงานแบบสุดขั้ว เอ็กซ์ตรีมที่เป็นโนฮาวของเราเอง คือต้องทำงานร่วมกัน ต้องซิงโครไนซ์ร่วมกันทั้งหมด”
ปัจจุบัน การดัดแปลงรวมทั้งจดมาตรฐานกับกรมการขนส่งทางบกจะใช้ระยะเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ ถ้าเป็นรถโมเดลซับซ้อน มีความยากในการติดตั้งก็จะใช้เวลา 3 สัปดาห์ ราคาค่าดัดแปลงขึ้นอยู่กับพาร์ทและอุปกรณ์ที่เลือกใช้ สำหรับรถ BMW คันนี้ราคาดัดแปลงอยู่ที่ 650,000 บาท “ราคาอาจจะสูงหน่อย แต่ก็เหมือนได้รถใหม่เพราะใช้อุปกรณ์ใหม่ และได้ครบทั้งความประหยัด ประสิทธิภาพ สมรรถนะ อายุการใช้งาน การบำรุงรักษาที่มันจะต่ำกว่าเพราะมีความซับซ้อนน้อยกว่า” อาจารย์โดมรับประกัน