Last updated: 12 ก.พ. 2567 | 596 จำนวนผู้เข้าชม |
วันนี้ (30 สิงหาคม 2566) นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาล ภายใต้การนำของพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้ผลักดันการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องและครบวงจร โดยธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า เป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ ที่เติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่งออกเป็นอันดับ 2 ของโลก ในปี 2565
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไทยเป็นผู้ส่งออกยางรถยนต์รายใหญ่ในตลาดโลก โดยในปี 2565 ไทยส่งออกยางรถยนต์เป็นอันดับ 2 ของโลก ซึ่งมีสัดส่วนตลาดราว 7.1% ของการส่งออกยางรถยนต์ทั้งหมดของโลก รองจากจีน ที่มีสัดส่วน 20.7% ในส่วนของการเติบโตมูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้านั้น Krungthai COMPASS คาดว่า ในปี 2573 มูลค่าส่งออกยางรถยนต์ไฟฟ้าไป 3 ตลาดหลักอย่างสหรัฐฯ จีน และออสเตรเลีย จะมีมูลค่ารวมกันประมาณ 2.3 พันล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 76,800 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 45% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่า 120 ล้านดอลลาร์ หรือราว 4,000 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าตลาดยางรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้ในประเทศจะอยู่ที่ราว 63,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% CAGR จากในปี 2565 ที่มีมูลค่าราว 4,100 ล้านบาท
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยก้าวมามีบทบาทสำคัญแถวหน้าของธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้านั้นสืบเนื่องมาจาก ความได้เปรียบด้านแหล่งวัตถุดิบของไทยในการเป็นแหล่งผลิตยางพาราที่สำคัญของโลก อีกทั้งรัฐบาลได้ให้การสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าของไทยอย่างต่อเนื่อง อาทิ การที่ไทยมีศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (Automotive and Tyre Testing, Research and Innovation Center – ATTRIC) เป็นส่วนหนึ่งของการส่งเสริมและยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อของไทย ไปสู่การเป็นซูเปอร์คลัสเตอร์ (Super Cluster) ตามยุทธศาสตร์ของประเทศและศักยภาพของพื้นที่
สนับสนุนให้มีการออกแบบ วิจัยพัฒนา และนวัตกรรม ตลอดจนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทำให้ไทยเป็นผู้นำและเป็นศูนย์กลางการทดสอบและรับรองในภูมิภาคอาเซียน มีบุคลากรที่มีความรู้และความสามารถในด้านผลิตภัณฑ์ยานยนต์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และยางล้อ สามารถทดสอบและรับรองได้เองในประเทศ ตั้งอยู่ ณ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา พื้นที่ 1,235 ไร่ เป็นส่วนหนึ่งของเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งให้บริการตั้งแต่ปี 2562 โดยตั้งแต่เปิดให้บริการ มีผู้ประกอบการมาใช้บริการแล้วกว่า 300 ราย โดยกระทรวงอุตสาหกรรมคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการประหยัดค่าใช้จ่ายและลดระยะเวลาในการส่งผลิตภัณฑ์ไปทดสอบที่ต่างประเทศราว 30-50% คาดว่าจะเปิดให้บริการอย่างครบวงจรเต็มรูปแบบ ในปี 2569 นอกจากนี้ ภาครัฐได้ให้สิทธิพิเศษทางภาษีแก่ผู้ประกอบการสินค้ากลุ่มนี้ โดยยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี รวมทั้งภาษีอากรขาเข้าเครื่องจักรที่ใช้การผลิต นอกจากนี้ ในกรณีที่ผู้ประกอบการผลิตเพื่อส่งออกจะได้ยกเว้นภาษีอากรการนำวัตถุดิบ เช่น สารเคมีที่ใช้ในการผลิต
“รัฐบาลกำหนดนโยบาย และดำเนินนโยบายได้อย่างเท่าทันช่วงเวลาของกระแสการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งทำให้ไทยขึ้นมาเป็นผู้นำในธุรกิจยางรถยนต์ไฟฟ้า และจะช่วยสนับสนุนให้ไทยเป็นฐานการผลิต การลงทุนด้านยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของโลก รวมทั้ง เป็นโอกาสแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี เพิ่มขีดความสามารถผู้ประกอบการไทย ยกระดับราคาสินค้าเกษตรไทยที่เป็นวัตถุดิบ รวมทั้ง จะเพิ่มโอกาสการแข่งขันให้ไทยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจรอีกด้วย” นางสาวรัชดาฯ กล่าว