X

อัพเลเวลสถานีชาร์จ! เดลต้าเปิดตัวเครื่องชาร์จแบบเร็ว Ultra Fast 200/500kW ชาร์จรถ EV พร้อมกันทีเดียวได้ 4 คัน

Last updated: 6 ก.ค. 2567  |  343 จำนวนผู้เข้าชม  | 

อัพเลเวลสถานีชาร์จ! เดลต้าเปิดตัว DC City Charger 500kW 4 หัวชาร์จ ชาร์จพร้อมกันทีเดียว 4 คัน

อัพเลเวลสถานีชาร์จ! เดลต้าเปิดตัวเครื่องชาร์จแบบเร็ว Ultra Fast 200/500kWชาร์จรถ EV พร้อมกันทีเดียวได้ 4 คัน สำหรับศูนย์กระจายสินค้าที่ต้องใช้รถขนส่ง EV ขนาดใหญ่ มาพร้อมโซลูชัน EV Charging Infrastructure ครบวงจร ในงาน “ASEAN Sustainable Energy Week & Electric  Vehicle Asia 2024”

บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) ยกโซลูชัน EV Charging Infrastructure ครบวงจรมาโชว์ในงาน “ASEAN Sustainable Energy Week & Electric  Vehicle Asia 2024” โดยมีไฮไลท์เป็นเครื่องชาร์จเครื่องชาร์จแบบเร็ว Ultra Fast 200/500kW  ที่สามารถชาร์จพร้อมกันทีเดียวถึง 4 คัน

เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว รุ่น  Ultra Fast 200/500kW สามารถจ่ายพลังงานได้สูงสุด 500 กิโลวัตต์ ติดตั้งหัวชาร์จได้สูงสุด 4 หัวชาร์จ โดยแบ่งเป็นหัวชาร์จด้านหน้า 2 ด้านหลัง 2 หัวชาร์จ ถ้ามีรถยนต์เข้ามาชาร์จพร้อมกัน 4 คัน สามารถแชร์พลังงานจ่ายไฟฟ้าให้รถได้คันละ 125 กิโลวัตต์

การติดตั้งเครื่องชาร์จ 500 กิโลวัตต์นี้ ต้องใช้หม้อแปลงขนาด 750 กิโลวัตต์ และทำระบบรองรับเพิ่มเติม เหมาะสำหรับติดตั้งตามศูนย์กระจายสินค้าที่ต้องใช้รถขนส่งไฟฟ้าขนาดใหญ่

ส่องโซลูชัน EV Charging Infrastructure “เดลต้า  อิเลคโทรนิคส์”

หลายปีที่ผ่านมาคนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยกับ “เดลต้า” ในฐานะผู้ผลิตเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เห็นอยู่ทั่วไปตามสถานีบริการน้ำมัน ศูนย์การค้าขนาดใหญ่ ฯลฯ ที่มีให้บริการชาร์จรถ EV ทั้งในรูปแบบเครื่องชาร์จ AC และ DC ทั้งๆ ในความเป็นจริงแล้ว “เดลต้า” ได้พัฒนาโซลูชันการชาร์จไปไกลยิ่งกว่านั้นแล้ว


ภูษิต หินหาด Product Manager Energy Infrastructure and Industrial Solution บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) เปิดเผยว่าเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแห่งอนาคตของ “เดลต้า” จะมุ่งให้ความสำคัญกับการเติมพลังงานสะอาดเข้าสู่รถยนต์ไฟฟ้าด้วยการนำเสนอโซลูชัน EV Charging Infrastructure

โซลูชันการชาร์จรถ EV รูปแบบนี้ มีหลักการทำงานอย่างไร...มาดูกัน

รูปแบบการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในอนาคต “เดลต้า” ได้ออกแบบให้เป็น Smart EV Charging Infrastructure ที่ยกระดับจากสถานีชาร์จรถ EV ที่ใช้ไฟจากโครงข่ายของการไฟฟ้าที่ผลิตพลังงานจากคาร์บอนเป็นหลัก มาเป็นการบริหารจัดการ การใช้พลังงานจากหลายแหล่ง ทั้งพลังงานจากการไฟฟ้า , โซลาร์รูฟท็อป และเอนเนอร์จี สตอเรจ


ภายใน EV Charging Infrastructure Solution จะมีโครงสร้างพื้นฐานระบบชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า มีสถานีชาร์จฯสำหรับบ้าน สำนักงาน และสถานีบริการชาร์จขนาดใหญ่ โดยเป็นสถานีชาร์จสำหรับฟลีตรถ ที่มีศักยภาพรองรับการชาร์จรถบัส รถบรรทุก และแพสเซนเจอร์คาร์ ซึ่งมีการใช้พลังงานค่อนข้างมาก จึงต้องมีระบบโซลาร์ อินเวอร์เตอร์ (Solar Inverter) มาช่วยบริหารจัดการพลังงาน หากมีรถเข้ามาชาร์จพร้อมกันจำนวนมาก สามารถดึงพลังงานจากเอนเนอร์จีสตอเรจมาช่วยจ่ายไฟในกรณีที่ไฟฟ้าจากโซลาร์ไม่พอ หรือในเวลาที่โซลาร์ไม่สามารถผลิตพลังงานได้ ก็สามารถใช้ไฟจากการไฟฟ้า และใช้ไฟจากเอนเนอร์จีสตอเรจ เข้ามาเติมให้เพียงพอ

“การนำเอาพลังงานจากโซลาร์เข้ามาใช้มีจุดมุ่งหมายหลักคือต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน ถ้าหากใช้พลังงานจากระบบไฟฟ้าล้วนๆ จะทำให้ปล่อยคาร์บอนเยอะ ดังนั้นการติดตั้งโซลาร์เซลล์จะเป็นการนำพลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ที่เป็น Zero emisstion มาช่วยให้ใช้พลังงานสะอาดได้มากขึ้น”ภูษิต อธิบาย

สนใจใช้โซลูชัน EV Charging Infrastructure ต้องลงทุนเท่าไหร่

แน่นอนว่าแนวคิดบริหารจัดการพลังงานให้สะอาดย่อมเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการขนส่งขนาดใหญ่ต้องการใช้ แต่การจะลงทุนพร้อมกันทีเดียวทั้งระบบย่อมใช้งบประมาณค่อนข้างสูง “ภูษิต” บอกว่าการลงทุนธุรกิจชาร์จรถ EV ไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการลงทุนจำนวนมากๆ ซึ่งต้องศึกษาดูโครงการอย่างละเอียดก่อนว่าสนใจเลือกลงทุนแบบไหน?

“เดลต้ามีให้เลือกทั้งแบบเริ่มต้นจากการตั้งสถานีชาร์จขึ้นมาก่อน หากมีลูกค้าใช้บริการชาร์จมากขึ้น ถ้าต้องการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าด้วยการติดโซลาร์รูฟท็อป ค่อยลงทุนเพิ่มในภายหลัง เพราะต้องมีการติดตั้งซอฟแวร์เดลต้ากริด DeltaGrid เข้ามาบริหารจัดการพลังงานทั้งระบบ ซึ่งต้องมีการเก็บพลังงานจากโซลาร์มาไว้ในเอนเนอร์จีสตอเรจ เวลามีรถมาชาร์จสามารถสั่งให้เอาไฟฟ้าจากเอนเนอร์จีสตอเรจมาใช้ได้”


การลงทุน EV Charging Infrastructure Solution ไซส์เล็กสุดจะเริ่มต้นจากการติดตั้งเครื่องชาร์จ DC ขนาด 50 กิโลวัตต์ 1 เครื่อง ส่วนของโซลาร์ และเอนเนอร์จีสตอเรจเริ่มต้นจาก 100 กิโลวัตต์ ถ้ามีสถานีชาร์จฯอยู่แล้ว ต้องการติดตั้งโซลาร์และเอนเนอร์จีสตอเรจเพิ่มเติม อาจจะเพิ่มทีละตู้ ขนาด 10 ฟุต ระบบปรับกำลังไฟฟ้า 100 กิโลวัตต์ (PCS100) เป็นลักษณะต่อจิ๊กซอว์ รันเพิ่มทีละตู้ๆ หากเป็นขนาดไซส์ใหญ่ก็เป็นขนาดตู้คอนเทนเนอร์ มีทั้งขนาด 20 ฟุต กับ 40 ฟุต

“เราจะมีโซลูชั่นแบบนี้ไว้เป็นทางเลือก แล้วแต่ว่าใครจะเลือกใช้โซลูชั่นไหน เดลต้าเองก็มีบิซซิเนสพาร์ทเนอร์ คนที่ทำรถ EV มักจะไม่มีเครื่องชาร์จ จะมองหาเครื่องชาร์จ คนที่ขายไฟฟ้าจากโซลาร์ที่เป็นพลังงานสะอาดอยู่แล้วก็อยากจะได้อุปกรณ์ที่สามารถเข้าไปปลั๊กกับระบบแล้วก็ขายไฟตรงให้กับลูกค้าที่ต้องการไฟแบบพลังงานสะอาดในราคาที่สูงกว่าขายให้การไฟฟ้าฯ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบไหน เราก็มีโซลูชันพร้อมรองรับ”

วางหมุดหมายเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานเป็น Zero emisstion  ปี 2030

อย่างไรก็ตาม โครงการในรูปแบบ EV Charging Infrastructure Solution อยู่ในช่วงเริ่มต้น โดยได้มีการติดตั้งและใช้งานใน “เดลต้า” ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ และสหรัฐอเมริกา เป็นรูปแบบ Case study หรือไซด์เรฟเฟอเรนซ์ สำหรับในประเทศไทยมีแผนติดตั้งในอนาคต เพราะปัจจุบันหลังคาโรงงานของเดลต้าทุกแห่งติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปอยู่แล้ว กำลังอยู่ในช่วงพัฒนาโซลาร์โฟลทติ้ง คาดว่าจะมีการติดตั้งสถานีชาร์จ EV สำหรับใช้งานภายในเดลต้าภายในปีนี้

ภูษิต เปิดเผยว่ารถยนต์ที่ใช้ในระบบโลจิสติกส์ของ “เดลต้า” เป็นการเช่ารถสันดาป และกำลังจะมีรถบางส่วนครบสัญญาเช่า บริษัทจึงมีแผนเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า 100% แบบค่อยเป็นค่อยไป โดยค่อยๆ เพิ่มสัดส่วนทีละ 5% 10% และ 15% ไปเรื่อยๆ แล้วแต่รอบการเช่ารถน้ำมันที่กำลังทยอยครบกำหนดสัญญา ล็อตไหนครบกำหนดสัญญาเช่าก็จะเปลี่ยนเป็นเช่ารถ EV มาใช้แทน

ต่อไปถ้าหากเดลต้าจะลงทุนสร้างสถานีชาร์จในโรงงาน น่าจะเริ่มต้นที่ประมาณ 5 สถานีต่อแพล้นซ์ เครื่องชาร์จที่เลือกใช้จะเป็นขนาด 200 กิโลวัตต์ ถ้าหากรถสันดาปครบสัญญาเช่า และเริ่มมีการเช่ารถ EV มาใช้  พร้อมกันนั้นก็จะมีการติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าสำหรับใช้ภายในองค์กร โดยทางบริษัทฯ ได้มีการตั้งเป้าหมายเปลี่ยนผ่านการใช้พลังงานให้เป็น Zero emisstion ภายในปี 2030


เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า “เดลต้า” มีอะไรบ้าง?

ผลิตภัณฑ์เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ผลิตโดย “เดลต้า” เป็นที่รู้จักและมีการใช้งานอย่างแพร่หลายมาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคที่มีการเริ่มต้นใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย มีทั้งเครื่องชาร์จแบบ AC และ DC อย่างไรก็ตาม เครื่องชาร์จ AC แบรนด์ “DELTA”  ที่ผู้ใช้รถ EV ในไทยรู้จักและมีโอกาสใช้งานมาเป็นเวลานานตามสถานีชาร์จสาธารณะอย่างศูนย์การค้าเซ็นทรัลพลาซ่า จะเป็นเครื่อง AC ขนาด 22 กิโลวัตต์ ปัจจุบันได้มีการพัฒนาให้ตอบโจทย์การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่บ้านมากขึ้น โดยเป็นเครื่องชาร์จรุ่น AC MAX 22 kW จ่ายพลังงานได้สูงสุด 22 กิโลวัตต์ ใช้เวลาชาร์จประมาณ 2-4 ชั่วโมง

เครื่องชาร์จ AC รุ่นนี้ สามารถใช้งานผ่านแอปพลิเคชั่น ตั้งเวลาการชาร์จ เลือกเวลาชาร์จ และเลือกพลังงานได้ หากที่บ้านติดมิเตอร์ไฟฟ้าที่เป็นแบบเดี่ยว ซึ่งไทม์ ออฟ ยูส หลังสี่ทุ่มขึ้นไป ค่าไฟจะลดเหลือ 2 บาท ผู้ใช้เครื่องชาร์จรุ่นนี้สามารถตั้งเวลาให้เริ่มชาร์จหลังสี่ทุ่มได้


ภูษิต แสดงความเห็นว่าทิศทางของโฮมชาร์จเจอร์ในอนาคตส่วนใหญ่จะเป็นรุ่นที่จ่ายพลังงานได้เยอะขึ้น เดิมจะเครื่อง AC ส่วนใหญ่ เป็นระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Single Phase) ขนาด 7.4 กิโลวัตต์ ปัจจุบันรถ EV หลายๆ รุ่นมีขนาดใหญ่ขึ้น ถ้ารถที่มีแบตเตอรี่ ขนาด 60-90 kWh ถ้าชาร์จแบบ 1 เฟส ต้องใช้เวลาชาร์จนานขึ้น จึงต้องมีรุ่น 22 กิโลวัตต์ ชาร์จแบบ 3 เฟส (Three Phase) ที่สามารถจ่ายพลังงานได้สูงสุด 22 กิโลวัตต์ เข้ามาช่วยให้ชาร์จได้เร็วขึ้น ปัจจุบันออนบอร์ดชาร์จเจอร์ (onboard charger) จะเป็น 11 กิโลวัตต์ ในอนาคตอันใกล้ก็จะมีออนบอร์ดชาร์จเจอร์ 22 กิโลวัตต์

 “รถ EV พรีเมียมที่ติดตั้งแบตเตอรี่ 70 kWh วิ่งได้ระยะทางมากกว่า 500 กม.ขึ้นไป มีแบตเตอรี่ขนาดใหญ่ขึ้น ชุดชาร์จจะต้องรับพลังงานได้สูงขึ้น อย่างเครื่องชาร์จขนาด 22 กิโลวัตต์ ถ้าต้องการให้ชาร์จไฟได้เร็วขึ้นต้องปรับระบบไฟฟ้าให้เป็น 3 เฟส ถ้าหากใช้ไฟแบบ 1 เฟส เครื่องก็จะจ่ายไฟได้เพียง 7.4 กิโลวัตต์ อาจทำให้ต้องใช้เวลาชาร์จนานเกินไป”

อย่างไรก็ตาม เครื่อง AC MAX 22 kW ถูกออกแบบให้รองรับไฟฟ้าได้ทั้งแบบ 1 เฟส และ 3 เฟส ตัวเครื่องมีราคาเท่ากัน แต่จะแตกต่างกันตรงค่าติดตั้ง ถ้าติดตั้งแบบใช้ไฟฟ้า 3 เฟส ก็จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่า 1 เฟส ซึ่งปัจจุบันราคาเครื่องรวมค่าติดตั้งจะตกอยู่ประมาณ 4 หมื่นบาท

เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC ของเดลต้า

สำหรับในส่วนของเครื่องชาร์จแบบเร็วนั้น “เดลต้า” ได้มีการนำเสนอสู่ตลาดประมาณ 3 รุ่นหลักๆ โดยลูกค้าสามารถเลือกรุ่นที่มีพลังงานได้ตามความเหมาะสมของการใช้งานในแต่ละสถานีชาร์จ


1.เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้ารุ่น DC Wallbox (50kW) จ่ายพลังงานสูงสุด 50 กิโลวัตต์ มี 2 หัวชาร์จ สามารถชาร์จรถ EV ได้พร้อมกัน 2 คัน ถ้าหากชาร์จเพียงคันเดียวจะชาร์จได้พลังงานสูงสุด 50 กิโลวัตต์ แต่ถ้ามี 2 คัน จะแชร์พลังงานเหลือคันละ 25 กิโลวัตต์ เครื่องรุ่นนี้ดีไซน์เป็น Wallbox สามารถติดตั้งในรูปแบบมีขาตั้ง หรือติดผนังก็ได้


2.เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว รุ่น DC City Charger (200kW) เป็นรุ่นที่มี 2 LEVEL ให้เลือก คือขนาด 100 และ 200 กิโลวัตต์ ถ้ารถมาชาร์จคันเดียวก็จะชาร์จได้ 100-200 กิโลวัตต์ ตามกำลังสูงสุดของเครื่องชาร์จ แต่ถ้ามาชาร์จพร้อมกัน 2 คันก็จะแชร์การจ่ายพลังงานเป็นคันละ 50 หรือ 100 กิโลวัตต์ ตามศักยภาพของเครื่องชาร์จ


3.เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว รุ่น Ultra Fast (200/500 kW)  สามารถจ่ายพลังงานได้สูงสุด 500 กิโลวัตต์ ติดตั้งหัวชาร์จได้สูงสุด 4 หัวชาร์จ โดยแบ่งเป็นหัวชาร์จด้านหน้า 2 ด้านหลัง 2 หัวชาร์จ ถ้ามีรถยนต์เข้ามาชาร์จพร้อมกัน 4 คัน สามารถแชร์พลังงานจ่ายไฟฟ้าให้รถได้คันละ 125 กิโลวัตต์ การติดตั้งเครื่องชาร์จ 500 กิโลวัตต์นี้ ต้องใช้หม้อแปลงขนาด 750 กิโลวัตต์ ถ้าจะติดตั้งต้องขอหม้อแปลงใหม่ และทำระบบรองรับเพิ่มเติม ดังนั้นจึงเหมาะสำหรับติดตั้งตามศูนย์กระจายสินค้าที่ต้องใช้รถขนส่งขนาดใหญ่ สำหรับเครื่องรุ่นที่นี้นำมาโชว์ตัวในงานเป็นขนาด 200 kW

ปัจจุบัน สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่เลือกใช้เครื่องชาร์จรุ่นนี้จะเป็นสถานีชาร์จ Elexa ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิต แต่เป็นรุ่นที่มีกำลัง 200 กิโลวัตต์ นับจากนี้เป็นต้นไปจึงน่าจับตามองการแข่งขันในด้านเทคโนโลยีการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในไทยที่กำลังทวีความเข้มข้นขึ้นทุกขณะ

เกี่ยวกับเดลต้า อิเลคโทรนิคส์

เดลต้า อิเลคโทรนิคส์ เป็นที่รู้จักดีในฐานะผู้นำด้านโซลูชันการจัดการพลังงานและการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ปักหมุดให้ไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตที่สำคัญของกลุ่มผลิตภัณฑ์พาวเวอร์อิเล็กทรอนิกส์ Mobility ระบบอัตโนมัติ และโครงสร้างพื้นฐานอินฟรานสตรัคเจอร์

ด้านการตลาด “เดลต้า” นำเสนอผลิตภัณฑ์ในรูปแบบโซลูชันระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติ ระบบควบคุมอาคารอัตโนมัติ ดาต้าเซ็นเตอร์ พลังงานโทรคมนาคม การจัดการพลังงานไฟฟ้าอัจฉริยะ จอดิสเพลย์/อุปกรณ์แสดงผล และโซลูชันเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้