Last updated: 29 ก.ย. 2567 | 184 จำนวนผู้เข้าชม |
Lotus Theory 1 เป็นซูเปอร์คาร์ต้นแบบขุมพลังไฟฟ้า มอเตอร์แฝด 1,000 แรงม้า อัตราเร่งจาก 0-100 กิโลเมตร/ชั่วโมงได้ภายในเวลา 2.5 วินาที ความเร็วสูงสุด 320 กิโลเมตร/ชั่วโมง แบตเตอรี่ความจุ 70 kWh วิ่งไกลสุด 400 กิโลเมตร/การชาร์จเต็ม 1 ครั้ง
ติดตั้งล้ออัลลอยน้ำหนักเบาขนาด 20 นิ้ว (คู่หน้า) และ 21 นิ้ว (คู่หลัง) ยางจาก Pirelli รุ่นพิเศษ P ZERO ELECT ขนาด 265/35 R20 และ 325/ 30 R21 มาพร้อมระบบเบรคจาก AP Racing ด้วยจานเบรคคาร์บอนเซรามิคเจนเนอร์เรชั่นใหม่ที่มีความแข็งแรงสูงและคาลิปเปอร์แบบอะลูมิเนียม
สปอยเลอร์ของรถชิ้นใหญ่และสามารถยกสูงได้ โดดเด่นตรงที่เชื่อมต่อเข้ากับบริเวณช่วงล่างของตัวรถด้านท้ายและสร้างแรงกดอากาศที่ล้อหลังโดยตรง เพื่อเพิ่มแรงกดอากาศ (Downforce) ได้มากกว่าและแตกต่างจากรถสปอร์ตทั่วไป ซึ่งเป็นเทคโนโลยีของรถ Formula 1
Lotus Theory 1 เป็นรถคอนเซ็ปต์ (Concept Car) ในฐานะรถต้นแบบสำหรับ Supercar ขุมพลังไฟฟ้า ได้รับแรงบันดาลใจการออกแบบจากรถรุ่น Lotus Esprit S1 ปี 1997 เพื่อส่งต่อคาแรกเตอร์รุ่นดั้งเดิมอันเป็นเอกลักษณ์ ด้วยการปรับเส้นสายให้ดูพลิ้วไหวและล้ำสมัยยิ่งขึ้น ด้วยดีไซน์อันโดดเด่นที่แสดงถึงรถยนต์สมรรถนะสูงพร้อมมอบประสบการณ์ขับขี่รูปแบบใหม่อันเร้าใจ เพื่อสะท้อน DNA ใหม่ของแบรนด์ ซึ่งมี 3 หลักการสำคัญ
D - Digital (ดิจิทัล) แสดงถึงความอัจฉริยะ โดดเด่นด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย
N - Natural (ธรรมชาติ) การออกแบบที่เชื่อมต่อและสะท้อนจิตวิญญาณของผู้ขับเป็นศูนย์กลาง
A - Analogue (อนาล็อก) เป็นการพัฒนาต่อยอดด้านวิศวกรรมสมรรถนะยานยนต์ของแบรนด์
Mr. Ben Payne รองประธานฝ่ายออกแบบของกลุ่มบริษัท LOTUS เปิดเผยว่า “รถคอนเซ็ปต์ Lotus Theory 1 นี้ ได้พัฒนาต่อยอดจากความสำเร็จที่ LOTUS ได้สร้างขึ้นตลอดระยะเวลา 76 ปีที่ผ่านมา เพื่อตอกย้ำความหมายในการขับขี่รถยนต์สมรรถนะสูง โดยมุ่งเน้นให้พิสูจน์ว่าผู้ขับขี่ไม่จำเป็นต้องจำกัดขีดความสามารถ เนื่องจากฟังก์ชันดิจิทัลและอนาล็อกสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างกลมกลืนในรถยนต์แห่งอนาคตคันนี้ เพื่อมอบประสบการณ์การขับขี่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเร้าใจ พร้อมฟังก์ชันการใช้งานที่สะดวก และเชื่อมโยงกับผู้ขับขี่เป็นหัวใจสำคัญ”
LOTUS ได้พัฒนาระบบขับขี่เฉพาะของตนเองที่เรียกว่า LOTUSWEAR™ ซึ่งเป็นระบบเสมือนจริงที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อมอบประสบการณ์ใหม่ให้แก่ผู้โดยสารทุกคน ทำให้รถสามารถสื่อสารกับคนขับและผู้โดยสารได้อย่างราบรื่น สร้างความสปอร์ตได้อย่างเต็มอารมณ์ มาในรูปแบบรถยนต์ 3 ที่นั่ง เพื่อให้ผู้ขับได้อยู่ตำแหน่งตรงกลาง เป็นตำแหน่งการขับขี่ที่ยอดเยี่ยม ตรงตามคอนเซปต์ของรถแข่ง พร้อมเชื่อมโยงผู้ขับให้เข้ากับถนนได้อย่างลึกซึ้งยิ่งขึ้น อาทิ พวงมาลัยที่จะตอบสนองแบบเรียลไทม์ เพื่อให้การรองรับ การยึดเกาะ และการแจ้งเตือนขณะขับขี่ที่เต็มไปด้วยเทคโนโลยีความปลอดภัย เพื่อชูคอนเซ็ปต์การผสมผสานความอนาล็อกให้เข้ากับความดิจิทัลได้เป็นอย่างดี
บริเวณเบาะนั่งของผู้ขับมีการใช้ผ้าที่เป็นหุ่นยนต์อ่อน ได้พัฒนาร่วมกับ MotorSkins โดยจะมีตำแหน่งแจ้งเตือนในรูปแบบการเคลื่อนไหวสามมิติเป็นสัญญาณต่าง ๆ ให้แก่ผู้ขับ ถือว่าสร้างประสบการณ์ขับขี่รูปแบบใหม่แห่งอนาคตได้อย่างน่าสนใจ
กลุ่มเทคโนโลยี LOTUSWEAR™ ได้รับการพัฒนาบนแพลตฟอร์มประมวลผล NVIDIA DRIVE ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้สามารถประมวลผลข้อมูลจากเซ็นเซอร์หลากหลายประเภทแบบเรียลไทม์ ด้วยความสามารถในการประมวลผลสูงถึงล้านล้านครั้งต่อวินาที ซึ่งช่วยเสริมความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของยานพาหนะ ผ่านการแปลงดิจิทัลขั้นสูงและการปรับพารามิเตอร์เพื่อให้การขับขี่มีความเหมาะสมที่สุด
ในขบวนการผลิตได้มุ่งเน้นการรีดน้ำหนักตัวรถลงต่ำกว่า 1,600 กิโลกรัม หรือ 1.6 ตัน โดยใช้วัสดุรีไซเคิลน้ำหนักเบา (Recycled Chop Carbon Fiber & Cellulose Composite) และพัฒนาการใช้แสงเลเซอร์สำหรับการส่องสว่างและสร้างบรรยากาศทั้งภายในและภายนอกตัวรถ ร่วมกับ Kyocera SLD Laser เพื่อลดจำนวนหลอดไฟและน้ำหนักของชิ้นส่วนให้น้อยลง รวมถึงชิ้นส่วนต่างๆ ภายในห้องโดยสาร รวมถึงดีไซน์กลไกการเปิดประตูรถแบบใหม่ที่จะสไลด์เปิดไปทางด้านหลัง เพื่อให้ขึ้นรถได้ง่ายและสะดวกขึ้น ให้ความรู้สึกสปอร์ตยิ่งขึ้นคล้ายรถ F1 ที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนใคร
ภายในห้องโดยสารยังมีการดีไซน์ที่เปิดโชว์ชิ้นส่วนให้เห็นกลไกเครื่องยนต์ต่าง ๆ ภายในรถระหว่างขับขี่ มอบประสบการณ์ใหม่อันปราดเปรียว เพื่อให้ผู้โดยสารทุกคนรับรู้ถึงอรรถรสการขับขี่ร่วมกัน นอกจากนี้ยังมอบบรรยากาศเสียงเหนือระดับอย่าง KEF สร้างคุณภาพเสียงตามความต้องการเฉพาะบุคคลสำหรับผู้โดยสารแต่ละคนทั้ง 3 ที่นั่ง
โหมดการขับขี่มี 5 รูปแบบ คือโหมด Range , Tour , Sport , Individual และ Track มอบอัตราการตอบสนองที่ฉับไวยิ่งขึ้น
ที่มา : Lotus Cars Thailand
13 ต.ค. 2567