Last updated: 4 ต.ค. 2566 | 507 จำนวนผู้เข้าชม |
กกพ.เตรียมปรับค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จสาธารณะรอบใหม่ โดยเปิดรับฟังความเห็น ระหว่าง 2-9 พ.ค. 2566 หลังใช้อัตราเก่าครบ 2 ปี คาดอัตราใหม่ตก 2.9162 บาทต่อหน่วย (อัตราเก่า 2.6369 บาทต่อหน่วย) โดยจะมีการทบทวนทุก 4 เดือน
คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นเรื่องอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station: EV Charging Station) ที่มีการบริหารจัดการแบบ Low Priority รอบใหม่ ระหว่างวันที่ 2-9 พ.ค. 2566 ผ่านทางเว็บไซต์ของ กกพ. www.erc.or.th
การทำประชาพิจารณ์ครั้งนี้ของ กกพ. เป็นไปตามการประชุมครั้งที่ 21/2566 (ครั้งที่ 849) เมื่อ 26 เมษายน 2566 ที่มีการพิจารณากำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (Public EV Charger) และมีความเห็นว่า อัตรา EV Low Priority ได้ใช้บังคับตามกรอบระยะเวลาที่ กพช. กำหนด เป็นระยะเวลา 2 ปีแล้ว จึงมีมติเห็นชอบให้นำมีการกำหนดอัตราใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับต้นทุนพลังงานในปัจจุบัน
ความเป็นมาของการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีชาร์จสาธารณะนั้นเริ่มจาก คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีการประชุมครั้งที่ 1/2563 (ครั้งที่ 150) เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563 โดยมีนโยบายและแนวทางกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสาหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle Charging Station: EV Charging Station) ออกมา
แนวทางดังกล่าวกำหนดให้ใช้อัตราค่าไฟฟ้า (ค่าไฟฟ้าฐาน) แบบคงที่ตลอดทั้งวัน มีค่าเท่ากับอัตราค่าพลังงานไฟฟ้าช่วงเวลาที่ระบบมีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย หรือช่วง Off-Peak ของผู้ใช้ไฟฟ้าตามโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดเล็ก อัตราค่าไฟฟ้าที่แตกต่างกันตามช่วงเวลาของการใช้ (Time of Use: TOU) สำหรับแรงดันไฟฟ้าน้อยกว่า 22 กิโลโวลต์ เท่ากับ 2.6369 บาทต่อหน่วย โดยอัตราดังกล่าวต้องใช้ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง
หมายความว่าการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายที่ให้บริการไฟฟ้าในพื้นที่สามารถควบคุม ปรับลด หรือตัดการใช้ไฟฟ้าของสถานีอัดประจุไฟฟ้าได้เมื่อมีข้อจำกัดของระบบจำหน่ายไฟฟ้า เพื่อไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้ารายอื่น และรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้า ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามข้อปฏิบัติทางเทคนิคของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่รับผิดชอบ และใช้เป็นระยะเวลา 2 ปี หรือจนกว่าจะมีประกาศโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่
ต่อมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 9/2565 (ครั้งที่ 718) เมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2564 ได้กำกับดูแลการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าตามแนวนโยบายของ กพช. โดยเห็นชอบการกำหนดอัตราค่าบริการไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบ Low Priority (อัตรา EV Low Priority) และให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายดำเนินการตามข้อปฏิบัติทางเทคนิคของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายตามพื้นที่
ต่อมาการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ซึ่งประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ได้ประกาศอัตรา EV Low Priority โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นไป
เนื่องจากอัตรา EV Low Priority ได้มีการลงนามบังคับใช้ครบกำหนดเวลาตามที่ภาคนโยบายกำหนดเป็นเวลา 2 ปีแล้ว การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย จึงขอให้ กกพ. พิจารณาทบทวนการกาหนดอัตราค่าไฟฟ้าสาหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าที่ใช้อัตรา EV Low Priority
กกพ. มีการประชุมครั้งที่ 21/2566 (ครั้งที่ 849) เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2566 พิจารณาแล้ว เห็นควรให้นำอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้า (Public EV Charger) เท่ากับ 2.9162 บาทต่อหน่วย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อเสนอการปรับโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้าใหม่ ปี 2565 – 2568 ตามมติ กกพ. เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2565 มาใช้กับสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ใช้ควบคู่ไปกับการบริหารจัดการแบบ Low Priority หรือการใช้ไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้ามีความสำคัญลำดับรอง เพื่อให้อัตราค่าไฟฟ้าอยู่ในระดับที่เหมาะสม สอดคล้องกับต้นทุนค่าซื้อไฟฟ้าเฉลี่ยของ กฟน. และ กฟภ. ที่ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
โดยมอบหมายให้สานักงาน กกพ. นำผลการพิจารณาของ กกพ. ไปดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียผ่านทางเว็บไซต์ของสานักงาน กกพ. เพื่อประกอบการพิจารณาของ กกพ. ตามขั้นตอนต่อไป
ผู้สนใจสามารถแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับ การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าสำหรับสถานีอัดประจุไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าที่มีการบริหารจัดการแบบ Low Priority มายังสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ตั้งแต่วันที่ 2 – 9 พฤษภาคม 2566 ได้ทางทางเว็บไซต์ของ กกพ. www.erc.or.th
ข้อมูลในการใช้ไฟฟ้าของสถานีชาร์จสาธารณะนั้น ณ เดือนธันวาคม 2565 ผู้ใช้ไฟฟ้าอัตรา EV Low Priority มีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่บริการของ กฟน. ซึ่งพบว่ามีจำนวนผู้ใช้ไฟฟ้าอัตรา EV Low Priority
ในปี 2565 จำนวน 149 ราย เพิ่มขึ้นจากปี 2564 ประมาณ 130 ราย และเริ่มมีการใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2565 เป็นต้นมา โดยเพิ่มขึ้นจาก 362,856 หน่วยในเดือนกันยายน 2565 เป็น 1,769,697 หน่วย ในเดือนตุลาคม 2565
1 พ.ย. 2567