X

รมว.อุตสาหกรรม มอบหมายที่ปรึกษารมต.เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า “EV 3.5”

Last updated: 11 ต.ค. 2566  |  649 จำนวนผู้เข้าชม  | 

มาตรการอีวี 3.5

รัฐมนตรีฯ พิมพ์ภัทรา มอบหมาย ดนัยณัฏฐ์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีฯ เร่งผลักดันนโยบาย EV3.5 ส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศ รวมทั้งส่งเสริมการพัฒนาสถานีชาร์จไฟให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เร่งผลักดันมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV 3.5 ส่งเสริมการผลิตและการใช้รถยนต์ไฟฟ้าอย่างแพร่หลายภายในประเทศ ทั้งนี้เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2566  ได้มอบหมายให้นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานการประชุมการขับเคลื่อนนโยบายด้านอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้ากับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้มีการหารือในการสนับสนุนด้านต้นทุนและราคาให้มีความเหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการของผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งมาตรการด้านสิทธิประโยชน์แก่ผู้ผลิตรถยนต์อีวีในการตั้งสถานประกอบการ

นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ยังมีนโยบายส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาสถานีชาร์จไฟให้เพียงพอและครอบคลุมทั่วประเทศ ภายใต้การออกมาตรฐานความปลอดภัยต่างๆ เพื่อผู้บริโภค โดยเฉพาะในของเรื่องแบตเตอรี่ พร้อมทั้งเร่งหามาตรการส่งเสริมและสนับสนุนการผลิต การนำเทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์ (Robot & Automation) มาใช้ให้ครอบคลุมทั้งกระบวนการจัดการการผลิต (Supply Chain) ของอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า

นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม

ทั้งนี้มาตรการอีวี 3.5 มีการกำหนดทั้งการให้ส่วนลดราคารถยนต์อีวีนำเข้า การกำหนดให้ค่ายรถตั้งโรงงานผลิตอีวี ตลอดจนการให้สิทธิประโยชน์กระตุ้นลงทุนตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่อีวี ซึ่งเป็นการกำหนดให้ครอบคลุมและเพิ่มเติมจากมาตรการอีวี 3.0 ที่กำหนดให้ตั้งโรงงานผลิตอีวีเท่านั้น และเป็นมาตรการที่จะหมดอายุสิ้นปีนี้

ดังนั้นถ้าหากสามารถผลักดันให้มาตรการอีวี 3.5 เริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค.2567 จะเป็นการส่งเสริมและผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตอีวีของอาเซียนจากนโยบาย 30@30 ที่มีการตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 หรือ พ.ศ.2573

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้