Last updated: 24 ม.ค. 2567 | 5956 จำนวนผู้เข้าชม |
ยอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว นับเป็นการส่งสัญญานเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยีรถยนต์สันดาปสู่ยานยนต์ไฟฟ้าอย่างชัดเจน ทั้งยังบ่งบอกถึงสภาพตลาดโดยรวมว่าไทยกำลังเป็นจุดหมายปลายทางของนักลงทุน EV ทั้งในประเทศและต่างประเทศ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าสภาพการลงทุนในอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ณ เวลานี้ ประเทศไทยเป็นหมุดหมายสำคัญของนักลงทุนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ ขณะที่นักลงทุนขนาดกลางและขนาดย่อมที่ต้องการเข้าสู่ตลาดนี้ต้องมองหาพิกัดที่ชัดเจนในการเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าที่มีอุตสาหกรรมต่อเนื่องให้เลือกมากมาย
กระแสการเติบโตครั้งนี้ ธุรกิจชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า เป็นอีกอุตสาหกรรมที่กำลังเนื้อหอมไม่แพ้กัน และเป็นตลาดที่มีผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นผู้เล่นหลัก โดยแต่ละรายพากันประกาศขยายสถานีบริการชาร์จเป็นจำนวนมาก ตั้งแต่หลักพันไปถึงหลักหมื่น จนทำให้หลายคนมองว่าธุรกิจนี้ได้ถูกบริษัทมหาชนขนาดใหญ่ยึดครองเอาไว้ในมือเรียบร้อยแล้ว
ใครเล่าจะรู้ว่าสมรภูมิการแข่งขันที่ร้อนแรงของธุรกิจนี้ ไม่ได้ทำให้บริษัทเปิดใหม่อย่าง Charge24 หวั่นเกรง ตรงกันข้ามพวกเขากลับเดินหน้าก่อตั้งบริษัทในช่วงต้นปี 2566 ที่ผ่านมา โดยใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มได้สำเร็จ จนนำไปสู่การเซ็นสัญญาทำงานหลังบ้านให้บริษัทให้บริการชาร์จ EV ขนาดใหญ่
และมีผลงานที่โดดเด่นคือการใช้เวลาเพียง 45 วัน ก็ได้รับความไว้วางใจจาก “สถานีบริการน้ำมันระดับพรีเมียม” จนนำไปสู่การเซ็นเอ็มโอยูสร้างสถานีชาร์จ Charge24 จำนวน 30 สถานีได้สำเร็จ
Charge24 เป็นนักธุรกิจกลุ่มไหน มีที่มาอย่างไร? จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามเป็นอย่างยิ่ง....
เริ่มต้นด้วยไอเดียต่อยอดธุรกิจจากความเชี่ยวชาญด้านแพลตฟอร์ม
Charge24 คือแพลตฟอร์มโชลูชันการชาร์จครบวงจร บริหารงานโดย บริษัท ชาร์จทเวนตี้โฟร์ จำกัด ที่ก่อตั้งเมื่อวันที่ 13 มกราคม 2566 ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้าน และมีการออกบูธเปิดตัว EV Charger แบรนด์ Sinexcel ในงาน Electric Vehicle Asia (EVA) 2023 ครั้งที่ 8 ที่จัดขึ้นพร้อมๆ กับงาน ASEAN Sustainable Energy Week (ASEW) ระหว่างวันที่ 30 ส.ค.-1 ก.ย.66 ที่ ฮอลล์ 1-4 ชั้น G ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยกระทรวงพลังงาน สมาคมยานยนต์ไฟฟ้า และ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์
นี่คือข้อมูลหลัก ๆ ที่เปิดเผยในโลกไซเบอร์ แต่ในความเป็นการจริงแล้วการก่อตั้งธุรกิจของผู้ให้บริการชาร์จรายนี้มีการขับเคลื่อนธุรกิจมากมายยิ่งกว่านั้น
“เดิมเคยทำงานประจำในทีมบริหารจัดการพลังงานร่วมกันมาในบริษัทเบญจจินดา ต่อมาได้แยกย้ายกันไปเติบโตที่อื่น จนกระทั่งได้มารวมตัวกัน 4 คน ก่อตั้ง บริษัท เอ็กซ์เทน เทคโนโลยี จำกัด ให้คำปรึกษาทางด้านซอฟต์แวร์เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565 ร่วมทุนทำบริษัทด้วยกันประมาณหนึ่งปี เมื่อเห็นการเติบโตของธุรกิจอีวี ก็เลยต่อยอดกิจการสู่ธุรกิจบริการชาร์จครบวงจร ร่วมกันก่อตั้ง Charge 24 เมื่อเดือนมกราคมปีนี้”
นดาวัลย์ หอมสุวรรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชาร์จทเวนตี้โฟร์ จำกัด เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อตั้งกิจการที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะมั่นใจในศักยภาพของทีมงานที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเขียนโปรแกรมบริหารจัดการพลังงานในอาคาร การต่อยอดสู่ธุรกิจบริการชาร์จที่มีหัวใจสำคัญอยู่ที่การพัฒนาแพลตฟอร์ม ซึ่งทีมงานมีความพร้อมอยู่แล้วเป็นเรื่องที่สามารถทำได้ทันทีโดยไม่ต้องเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่
“เอ็กซ์เทน แปลว่า ต่อยอด อะไรที่เป็นเทคโนโลยีเราสามารถต่อยอดได้ไม่จำกัด ความที่เอ็กซ์เทนถนัดในด้านการบริหารจัดการพลังงานกันมาก่อน ทีมงานมีประสบการณ์เขียนโปรแกรมบริหารจัดการเสาโครงข่ายโทรศัพท์เป็นหมื่นต้น ส่วนผมเคยทำงานอยู่ทีม Life 24 ดูแลลูกบ้านแสนสิริ 24 ชั่วโมงมาก่อน ก็เลยนำมาแมชชิ่งกับตัวชาร์จ กลายเป็น Charge 24 ได้มีการวางเป้าหมายว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์ม และมีทีมซัพพอร์ตสถานีชาร์จ 24 ชั่วโมง ในรูปแบบ 24X7 (24 ชั่วโมง 7 วัน)”
กิตติภพ พิมบุตร ประธานฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ชาร์จทเวนตี้โฟร์ จำกัด กล่าวเสริมถึงจุดเริ่มต้นอันเป็นที่มาของ Charge 24 ที่เริ่มต้นด้วยผู้ถือหุ้น 4 คน ประกอบด้วยตัวเขา กิตติภพ พิมบุตร จิระชัย เรือนคำ สุทัศน์ สุขจิต และนดาวัลย์ หอมสุวรรณ์ โดยจิระชัย เรือนคำ ดูแลด้านเทคโนโลยีในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี สุทัศน์ สุขจิต ดูแลด้านผลิตภัณฑ์ในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายผลิตภัณฑ์
ลงพื้นที่สำรวจพฤติกรรมการชาร์จรถ EV แบบเจาะลึกหาข้อมูลมาพัฒนาแฟลตฟอร์ม
“สิ่งแรกที่เราทำก่อนพัฒนาแพลตฟอร์ม คือทำ R&D โดยการลงพื้นที่สำรวจสถานีชาร์จอย่างจริงจัง ทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด พบว่าสถานีชาร์จส่วนใหญ่ไม่ได้เปิดให้บริการ 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ปิด 2-3 ทุ่ม เคยเจอสถานีชาร์จบางแห่งตู้ชาร์จบอกเปิด 24 ชั่วโมง แต่พอดึก ๆ ทางเข้าปิด ตู้ชาร์จบางแห่งถูกทิ้งร้างขาดการดูแลรักษา ก็คิดกันว่าถ้าขับรถอีวีแล้วแบตฯหมดในพื้นที่ที่ตู้ชาร์จไม่พร้อมให้บริการ 24 ชั่วโมง ลูกค้าจะทำอย่างไร ถึงขั้นต้องใช้บริการรถยกเลยหรือ?”
นดาวัลย์ เล่าถึงประสบการณ์ที่ได้ลงพื้นที่สำรวจให้บริการชาร์จอย่างจริงจังทำให้ได้ข้อมูลมาพัฒนาแพลตฟอร์ม Charge 24 ให้ตอบโจทย์ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากที่สุด
“จริง ๆ แล้วเราอยากทำกิจการแบบยั่งยืน จึงมาดูบิซิเนสโมเดลก่อนว่าจะทำอย่างไรให้การทำธุรกิจอีวีชาร์จเจอร์ยั่งยืน ประสบการณ์ที่ผ่านมาเราถนัดงานโปรเจ็กต์ เขียนแพลตฟอร์มระบบใหญ่ๆจบรับเงิน 10 ล้าน 100 ล้าน เอ็กซ์เทน มีงานโปรเจ็กต์ กับบริการให้เช่าซอฟท์แวร์ ทำให้มีรายได้เป็นเงินก้อนจากโปรเจ็กต์ และมีรายได้ประจำจากการให้เช่าซอฟท์แวร์ ซึ่งทำให้ยั่งยืน มีเงินเข้าทุกเดือนทุกปี พอมาทำ Charge 24 ก็คิดโมเดลแบบเดียวกัน”
กิตติภพ เปิดเผยถึงที่มาของแนวคิดการวางโมเดลธุรกิจที่มีการวางแผนให้มีรายได้เป็นเงินก้อนจากงานโปรเจกต์ และมีการลงทุนระยะยาวให้มีรายได้ประจำ
“พ้อยท์สำคัญของธุรกิจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ไม่ใช่แค่เครื่องชาร์จ หากแต่เป็นแพลตฟอร์ม ที่จะทำให้รุกตลาดได้ทั้งงานโปรเจ็กต์และงานบริการเพื่อสร้างรายได้ประจำระยะยาว เราจึงเริ่มต้นธุรกิจด้วยการวางแผนพัฒนาแพลตฟอร์มจากการสำรวจในตลาดว่ามีแพลตฟอร์มอะไรบ้าง ให้บริการในรูปแบบไหน จนได้ข้อสรุปว่าแพลตฟอร์มของเราประกอบด้วยแอปพลิเคชั่น (Application) ตู้คีย์ออส (Kiosk) ระบบบริการจัดการเครื่องชาร์จ/เครื่องชาร์จ และระบบให้บริการชาร์จทุกวันตลอด 24 ชั่วโมง (24X7)”
แพลตฟอร์มไมโครเซอร์วิส แต้มต่อสำคัญในการรุกตลาดที่แตกต่าง
หลายคนอาจสงสัยว่าปัจจุบันผู้ให้บริการชาร์จทุกค่ายล้วนแล้วแต่มีแพลตฟอร์มกันแทบทั้งนั้น ทำไม? Charge 24 ถึงได้มั่นใจว่าแพลตฟอร์มของพวกเขาคือจุดแข็ง…
“ทีมโปรแกรมเมอร์ของเราพัฒนาแอปพลิเคชั่นในรูปแบบไมโครเซอร์วิส ทุกๆ ฟีเจอร์จะแบ่งเป็นโมดูล ๆ ไว้ เหมือนจิกซอว์ ทำให้สามารถนำเสนอบริการนี้กับลูกค้าที่ต้องการใช้แพลตฟอร์มในแบบเราแต่มีดีไซน์เป็นของเขา ถ้าลูกค้าอยากได้แบบไหน โปรแกรมเมอร์แค่นำเอาจิ๊กซอว์นั้นมาประกอบกันให้ตรงกับโจทย์ที่ลูกค้าต้องการ ช่วยให้สามารถพัฒนาแพลตฟอร์มให้ลูกค้าโครงการได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้มีผู้บริการชาร์จหลายแบรนด์สนใจให้เราทำแพล็ตฟอร์มให้ในรูปแบบที่เขาต้องการ”
กิตติภพ อธิบายถึงเทคโนโลยีที่ใช้ในการพัฒนาแพลตฟอร์มที่ทีมงานได้เขียนโปรแกรมได้ตามที่ลูกค้าต้องการ ซึ่งนำไปสู่การวางแผนว่าจะใช้เงินลงทุนเท่าไหร่? โดยได้ข้อสรุปว่าการเริ่มต้นลงทุนต้องทำอาร์แอนด์ดี ทำงานโปรเจ็กต์ และวางแผนให้มีรายได้ระยะยาวด้วยการลงทุน EV Station ทั้งสามอย่างต้องทำให้สำเร็จภายในปี 2566
“การลงทุนเริ่มต้นด้วยการจดทะเบียนเป็นจอยส์เวนเจอร์กันระหว่างเอ็กซ์เทน กับ เอ็นเทค อินดัสเทรียล เราเปิดเป็นบริษัทใหม่ด้วยเงินลงทุน 10 ล้านบาท เป็นการระดมเงินมาลงทุนตั้งสถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมัน”
เตรียมปักหมุด 30 สถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมัน 30 สาขาภายในกลางปี 2567
“ต้องบอกว่าเราติดต่อกับสถานีบริการน้ำมันแบบใช้เบอร์โทร. 02 ไม่ได้มีคอนเนกชั่นกันมาก่อน ตอนแรกไม่ได้คุยแค่สถานีบริการน้ำมันพรีเมียมแบรนด์เพียงแห่งเดียว เรามีคุยกับอีกแบรนด์หนึ่งของสถานีบริการน้ำมัน แต่ด้วยความที่องค์ประกอบของรายได้ การลงทุนของสถานีชาร์จ รายได้สำคัญคือทราฟฟิคของจำนวนรถที่จะเข้ามาชาร์จ ซึ่งมียอดขั้นต่ำต่อวันเป็นปัจจัยสำคัญต่อรายได้ที่เราจะต้องคืนทุน จึงทำให้เราตัดสินใจลงทุนในสถานีบริการแบรนด์นี้” นดาวัลย์ กล่าว และเปิดเผยต่อไปว่า
“ก่อนตัดสินใจเราเซอร์เวย์พื้นที่ดูทราฟฟิคด้วยตัวเอง ดูเรื่องของจำนวนรถ จุดที่ติดตั้งสถานีชาร์จ อารมณ์ของธุรกิจนี้เหมือนเล่นเกมเศรษฐี พื้นที่ตรงไหนเป็นไพร์มแอเรียที่น่าสนใจ การสัญจร เข้าถึงง่าย ต้องมี Capacity เส้นทางการจราจร ใช่เส้นทางหลวงหรือเปล่า ตอนนั้นเซอร์เวย์สถานีบริการทั้ง 2 เจ้า ต้องขอบคุณสถานีบริการน้ำมันทั้งสองที่ให้โอกาสบริษัทเปิดใหม่ และไม่ได้เป็นรายใหญ่ เราได้ร่วมมือกับผู้บริหารสถานีบริการน้ำมันจนในที่สุดเขาเลือกเรา”
“คิดว่าเขาเลือกเราเพราะภาพที่เราสื่อสารชัดเจนว่าต้องการเป็นพรีเมียมแบรนด์ อีกเรื่องหนึ่งก็คือเราทำงานเร็วมาก ทำงานร่วมกับสถานีบริการน้ำมันแบรนด์นี้ ตั้งแต่เริ่มโทร.เบอร์ 02 จนถึงผู้ดูแลเรื่องนี้จริงๆ ใช้เวลาไม่ถึงเดือนครึ่งก็เซ็นเอ็มโอยูกันแล้ว เราทำงานกันแบบสัปดาห์ต่อสัปดาห์ มีการอัพเดทกันเรื่องสถานีกันตลอดเวลา” กิตติภพ กล่าวเสริมถึงความสำเร็จในเป้าหมายแรกที่ต้องการลงทุนสถานีบริการชาร์จ
ขณะเดียวกันในส่วนของลูกค้ากลุ่มโปรเจ็กต์ที่วางเป้าหมายให้มีรายได้เป็นเงินก้อนเข้ามานั้นประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง นั่นคือการได้รับความไว้วางใจให้ทำงานหลังบ้านให้กับการไฟฟ้าฯ นอกจากนี้ยังมีอีกหลายโปรเจ็กต์ที่กำลังพยายามผลักดัน ส่วนของงานขายเครื่องชาร์จตามบ้านก็เริ่มทำตลาดไปแล้วเช่นกัน
นี่คือจุดเริ่มต้นของ Charge 24 บนเส้นทาง EV ที่ใช้เวลาไม่ถึงปีก็สามารถแจ้งเกิดในวงการได้เต็มรูปแบบ และในปี 2567ได้มีการวางเป้าหมายขยายสถานีชาร์จในสถานีบริการน้ำมันให้ได้ 100 สถานี...
16 ก.ย. 2567