Last updated: 23 พ.ค. 2567 | 564 จำนวนผู้เข้าชม |
สถาบันยานยนต์วิเคราะห์เจาะลึกสถานการณ์อุตสาหกรรมยานยนต์ไทย ระบุ BEV กำลังรุ่ง ทั้งด้านยอดขาย และการลงทุน แต่ต้องไม่ทิ้งรถยนต์สันดาป (ICE) ไว้ข้างหลัง
การเติบโตของยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า BEV ในประเทศไทยที่เพิ่มขึ้นจากกว่า 10,000 คันในปี 2022 เป็น 73,568 คัน ในปี 2023 โตขึ้นถึง 7 เท่า และล่าสุดมียอดรถ BEV จดทะเบียนในประเทศสะสม 113,435 คัน แสดงให้เห็นถึงการตอบรับเทคโนโลยียานยนต์สมัยใหม่ของคนไทย และความสำเร็จของนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้า EV3.0 และ EV3.5
รถยนต์แบตเตอรี่ หรือ BEV มีจุดเด่นตรงที่เป็นรถพลังงานสะอาดที่มาพร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัย เมื่อได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทำให้มีราคาถูกลงจึงเป็นการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ตรงประเด็น และกลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายของผู้ผลิตรถยนต์ในประเทศไทยในการพัฒนารถยนต์ให้สอดคล้องพฤติกรรมของผู้ใช้รถยนต์
ดร.เกรียงศักดิ์ วงศ์พร้อมรัตน์ ผู้อำนวยการสถาบันยานยนต์ ได้ติดตามทิศทางการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว และวิเคราะห์สถานการณ์อย่างใกล้ชิด จนได้ข้อสรุปว่า ความต้องการของผู้บริโภคเป็นการส่งสัญญานว่าอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยต้องมีการปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงที่เดินหน้าไปสู่ยานยนต์พลังงานสะอาด ที่มาพร้อมเทคโนโลยีความปลอดภัย และมีราคาสัมผัสได้อย่างรวดเร็ว
ข้อสรุปตรงนี้ จะมีการอัพเดตความเคลื่อนไหวแวดวงยานยนต์ในงานสัมมนาใหญ่ประจำปี “Automotive Summit 2024” ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 ณ ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา ให้คนในวงการยานยนต์ได้เข้าร่วมแลกเปลี่ยนข้อมูลและเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ
ภาพรวมอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย
อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีขนาดใหญ่ มีซัพพลายเชนที่แข็งแรง หากรวมยอดขายรถยนต์ การให้บริการหลังการขาย และการซ่อมบำรุงต่างๆแล้ว มีมูลค่าสูงกว่า 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 18 ของ GDP ถือว่าเป็นอุตสาหกรรมที่ส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศค่อนข้างมาก
ปีที่ผ่านมาประเทศไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 1,800,000 คัน เป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เป็นที่ 5 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 10 ของโลกในแง่ของฐานการผลิต ทำให้ไทยยังคงเป็นผู้นำการผลิตรถยนต์ในอาเซียน
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันคู่แข่งของไทยเข้มแข็งขึ้นเรื่อยๆ ประเทศเพื่อนบ้านมองว่าอุตสาหกรรมรถยนต์มีศักยภาพเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศ เพราะรถยนต์ไม่ใช่แค่โรงงานประกอบ หากแต่รวมถึงธุรกิจผู้ผลิตชิ้นส่วนต่างๆ ด้วย ซึ่งไทยมีผู้ประกอบการชิ้นส่วนเอสเอ็มอี และพาร์ทเนอร์ทั้งเทียร์ 1-3 รวมกันกว่า 2,300 ราย ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของการพัฒนาอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
ปีที่แล้วมีรถยนต์ที่ผลิตในประเทศกว่า 1,800,000 คัน จำหน่ายในประเทศเกือบ 8 แสนคัน ส่งออกประมาณกว่า 1,100,000 คัน จะเห็นว่าส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ภูมิภาคที่ส่งออกหลักๆ อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ออสเตรเลีย และตะวันออกกลาง มีมูลค่าการส่งออกรถยนต์รวมสูงถึง 19,776.19 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 688,531.24 ล้านบาทในปี 2566
การเปลี่ยนผ่านอุตสาหกรรม ICE สู่ BEV
อย่างไรก็ตามปัญหาสภาวะโลกร้อนทำให้รัฐบาลไทยมีนโยบายส่งเสริมการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือ รถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยต้องเปลี่ยนผ่านจากการผลิตรถยนต์สันดาป (ICE) มาเป็นการผลิตรถยนต์สมัยใหม่เน้นการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ลดการปล่อยมลพิษและก๊าซเรือนกระจก
ผลจากนโยบาย 30@30 หากคำนวณเป็นตัวเลขกลมๆ สมมติประเทศไทยผลิตรถยนต์ประมาณ 2 ล้านกว่าคัน เป้าการผลิตรถ ZEV หรือ BEV ต้องมีประมาณ 7 แสนกว่าคัน ที่เหลืออีกล้านกว่าคันยังคงเป็น ICE เพียงแต่รถรุ่นใหม่ต้องสะอาดขึ้น และต้องผลิตให้ได้มาตรฐานยูโร 5-6
ดังนั้นการผลิตรถยนต์สันดาป ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นรถ ICE เพียวๆ เนื่องจากการลดคาร์บอนต่อกิโลเมตร ส่วนหนึ่งคือการหันไปใช้เทคโนโลยีไฮบริดมากขึ้น เพราะยังมีผู้บริโภคจำนวนหนึ่งรู้สึกว่า BEV ไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตนเอง บางคนอาจจะไม่มีที่ชาร์จ หรือหาที่ชาร์จยาก หรือมีความจำเป็นต้องใช้รถในการเดินทางหรือขนส่งระยะทางไกลมากๆ ตรงนี้เป็นที่มาว่าแนวโน้มของการผลิตรถในไทยจะยังคงมีรถสันดาปอยู่ แต่ต้องเป็นรถที่สะอาด ประหยัด และปลอดภัยมากขึ้นเรื่อยๆ
การที่รถ ICE ก็ยังคงมีอยู่นั้น ไม่ได้หมายถึงอยู่แต่ในประเทศไทย ในตลาดโลกก็ยังคงอยู่ เพราะจริงๆแล้วกำลังผลิตเกินกว่าครึ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก ซึ่งตลาด ICE และไฮบริดยังมีความต้องการ อีกทั้งไทยเองมีซัพพลายเชนของ ICE ที่แข็งแรง ตรงนี้เป็นโอกาสในส่วนของอุตสาหกรรมรถยนต์ที่จะมุ่งผลิตตอบโจทย์ลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลยังไม่สะดวกที่จะใช้รถ BEV ประกอบกับไทยมีความเข้มแข็งด้านนี้อยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของการที่จะเป็นฐานผลิตไอซีอีแห่งสุดท้าย ควบคู่กับการขยายการผลิตรถยนต์สู่รถ ZEV ที่มีทั้ง BEV และ FCEV
ไทยเป็นแชมป์ยอดขายรถ BEV ในปี 2566
ที่ผ่านมานโยบาย 30@30 มีส่วนอย่างมากในการส่งเสริมให้ตลาดรถ BEV ในประเทศไทยเติบโตอย่างรวดเร็ว ถ้าพิจารณาดูจากสภาพของตลาด BEV ปีที่แล้ว ประเทศไทยเป็นเบอร์ 1 มียอดขาย 80% ของอาเซียน ถือว่าประสบความสำเร็จมาก จากการที่รัฐบาลมีนโยบายใช้สนับสนุนรถยนต์ไฟฟ้า EV3.0 และ EV3.5 ส่งผลให้ยอดขายรถไฟฟ้าเติบโตขึ้นถึง 10,000 คันในปี 2022
ต่อมาปี 2023 ยังคงมีความเติบโตสูงกว่าเป้าที่ต้องการ มียอดขายรถยนต์ไฟฟ้า 50,000 คัน แต่ไทยมียอดขายสูงถึง 73,568 คัน โตขึ้นถึง 7 เท่า จากยอดขายปี 2022 ขณะเดียวกันไตรมาสแรกของปีนี้มียอดจำหน่ายรถ BEV กว่า 19,131 คัน หากพิจารณาจากสถิติการจดทะเบียนสะสมในประเทศไทย พบว่าปัจจุบันมีรถ BEV จดทะเบียนไปแล้วกว่า 113,435 คัน
ยอดขาย BEV ที่เติบโตอย่างรวดเร็ว หมายถึงในประเทศไทยมีคนยอมรับเทคโนโลยีใหม่ๆ เร็วกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบกับผลการสำรวจผู้บริโภคในอาเซียน พบว่าผู้บริโภคไทยเปิดใจรับรถ EV มากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ดังนั้นในแง่ของการเปลี่ยนผ่านนับเป็นความสำเร็จของนโยบายรัฐบาลที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรม EV เติบโต ทั้งนโยบาย EV 3.0 EV3.5 และนโยบายก่อนหน้านั้น ที่เริ่มต้นจาก EV1 และ EV2 ซึ่งเน้นในเรื่องของการส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ ทำให้มีการลงทุนแล้วเกิดตลาดตรงนี้ขึ้นมา จนนำไปสู่การที่ประเทศไทยสามารถดึงดูดการลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนได้มากขึ้น
สถานการณ์ปีที่แล้วจนถึงต้นปีนี้ ประเทศไทยยังคงมีการประกาศการลงทุนของไลน์ผลิตรถ EV ใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มขึ้น ระยะเวลาเพียงแค่ปีเดียวอุตสาหกรรมยานยนต์มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก เห็นได้จากบนท้องถนนไทยมีรถ EV ยี่ห้อใหม่ๆ วิ่งเต็มไปหมด
ด้านการลงทุนมีโครงการที่ได้รับการส่งเสริมจากบีโอไอมูลค่ากว่า 80,000 ล้านบาท เป็นการลงทุนของผู้ผลิตรถ EV กว่า 9 ราย นำโดย BYD , MG , GWM, Changan , NETA , GAC และ NISSAN ฯลฯ มีกำลังผลิตรวมกว่า 596,000 คันต่อปี
ทั้งนี้ ช่วงไตรมาสแรกของปี 2567 ประเทศไทยได้เริ่มมีการผลิตรถ BEV ในประเทศ มีปริมาณการผลิตรวม 2,466 คัน นำโดยค่าย GWM , MG , NETA และ Honda อย่างไรก็ตาม ในอนาคตการผลิตรถ BEV จำหน่ายในประเทศจะมีสัดส่วน 30% ของกำลังผลิตรวมในประเทศไทยในปี 2030 ตามนโยบาย 30@30 ย่อมมีความเป็นไปได้
ค่ายรถ EV จีนมาแล้ว ผู้ผลิตชิ้นส่วนปรับตัวอย่างไร?
อย่างไรก็ตาม ความเติบโตของตลาดรถ BEV ในประเทศไทยนั้น สะท้อนถึงการลงทุนของไทยในการเปลี่ยนผ่านจาก ICE ไปสู่ BEV ยังคงอยู่ในสัญญาณที่ดี แม้ว่าปีนี้ตลาดจะไม่ได้เติบโตหวือหวาเท่าปีที่ผ่านมา แต่ต้องยอมรับว่าขึ้นอยู่กับยอดขายรถยนต์โดยรวมที่ชะลอตัวลงจากสภาพเศรษฐกิจ แต่ก็ยังเชื่อว่าบรรยากาศ BEV จะเป็นโมเมนต์ของการลงทุน การบริโภคอาจจะไม่ดีเท่าไหร่ แต่การลงทุนยังดีและมีการเดินหน้า
ปีนี้เป็นปีแรกที่เริ่มเห็นยอดการผลิตรถ BEV อย่างจริงจังในประเทศ และออกมาขายตามนโยบายอีวี 3.0 สถาบันยานยนต์กำลังรอรถที่เมดอินไทยแลนด์อีกคันหนึ่งที่เป็น EV 100% คิดว่าไทยเราเปิดตัวได้ดี มีการลงทุนใหม่ๆ เข้ามาเรื่อยๆ จริงๆ แล้วผู้ผลิตรถ EV ในไทยมีทั้งของค่ายรถจีน ญี่ปุ่น และยุโรป แต่ต้องยอมรับว่ามีค่ายจีนเข้ามามาก เป็นค่ายใหม่และมีศักยภาพในการผลิต เชื่อว่านี่เป็นทิศทางของอุตสาหกรรมรถยนต์ในประเทศไทย
การบ้านต่อไปที่ต้องช่วยกันก็คือ ตอนนี้ค่ายรถและผู้ประกอบรถเข้ามาแล้ว ต้องย้อนกลับไปดูว่าจุดแข็งอุตสาหกรรมรถยนต์ไทยคืออะไร? ไทยมีซัพพลายเชนที่ดี ทั้งเทียร์ 1-3 ดังนั้นการเข้ามาตั้งโรงงานสร้าง sourcing Vender เป็นเรื่องไม่ยาก ถ้าเวอร์เดอร์ไทยแข็งแรงแข่งขันได้ ย่อมทำให้การย้ายฐานไปอยู่ที่อื่นยากขึ้น เมื่ออุตสาหกรรมรถยนต์สมัยใหม่เข้ามาเทคโนโลยีย่อมเปลี่ยนไป ต่อไปหลายชิ้นส่วนอาจไม่มีแล้ว ท่อไอเสียอาจไม่ค่อยได้ใช้ ถ้าหากพัฒนาเปลี่ยนผ่านไปสู่ BEV เต็มตัว
ดังนั้นเมื่อผู้ผลิตรถยนต์เข้ามาแล้ว ผู้ประกอบการชิ้นส่วนต้องพัฒนาตามเทคโนโลยี ต้องพัฒนาชิ้นส่วนรถยนต์รองรับ ภาครัฐต้องพยายามยกระดับผู้ประกอบการ SME ให้เข้าสู่ซัพพลายเชนของรถยนต์สมัยใหม่มากขึ้นเรื่อยๆ อันที่จริงรถยนต์สมัยใหม่ไม่ได้มีแค่ BEV หากแต่ยังมีส่วนที่เป็นรถไฮบริด หรือ ICE ก็จะเห็นฟังก์ชั่นใหม่ ๆ เป็นสมาร์ทฟังก์ชั่นมากขึ้นเรื่อยๆ มีระบบ ADAS มีระบบออโตโนมัติมากขึ้น มีออโต้เบรก มีซิสเท็มต่างๆ เพิ่มเข้ามา
สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเร่งให้ผู้ประกอบการชิ้นส่วนที่เป็นคนไทยต้องมีการปรับตัวมากพอสมควร รัฐบาลดึงนักลงทุนประกอบรถยนต์ไฟฟ้ามาแล้ว แบรนด์มาแล้ว ชิ้นส่วนต้องตามมา ต้องมีการพัฒนาและยกระดับด้วย ไม่อย่างนั้นซัพพลายเชนก็จะไม่แข็งแรงเหมือนที่เคยเป็นมา จริงๆต้องเน้นในเรื่องของการแข่งขัน เน้นเรื่องของ Productivity ยกระดับเทคโนโลยีให้เข้าสู่การผลิตที่มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น
เทรนด์รถยนต์ยุคต่อไปต้องสะอาด ประหยัด และปลอดภัย
เทรนด์อุตสาหกรรมทั่วไปรวมทั้งรถยนต์ ความยั่งยืนเป็นเรื่องสำคัญมากๆ ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และสังคม การผลิตสินค้าในยุคนี้จะมุ่งเน้นแค่โปรดักส์ไม่ได้ ต้องนึกถึงสังคมส่วนรวม สิ่งแวดล้อม และต้องรักษ์โลก หมายถึงรถยนต์ที่ผลิตขึ้นมาต้องเป็นเทคโนโลยีสะอาด ราคาประหยัด และมีความปลอดภัย
เมื่อเทรนด์ของโลกขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืนมากขึ้น ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออก มีการส่งออกไปยุโรป ตอนนี้ยุโรปเริ่มมีกำแพงเรื่องของคาร์บอน หมายถึงการผลิตต่อไปเราต้องปฏิบัติตามเดดคลูเรชั่นพวกนี้ ผลิตอะไรที่ทำลายสิ่งแวดล้อมก็จะส่งออกไม่ได้ นี่เป็นสิ่งสำคัญมากๆ
การแข่งขันต่อไปในอนาคตคงไม่ใช่เรื่องต้นทุนเท่านั้น แต่ต้องรีครูสในเรื่องของเทคโนโลยี และสิ่งแวดล้อมด้วย อย่างไรก็ตามราคาก็มีความสำคัญ ถ้าดูบรรยากาศการแข่งขันของอุตสาหกรรมรถยนต์ ท้ายที่สุดก็แข่งขันกันที่ราคา ตลาดโลกมีการผลิตรถยนต์ปีละประมาณ 90 ล้านคัน ปีนี้อาจจะลดลงเหลือ 85 ล้านคัน ทั้งโลกเค้กก็ประมาณนี้ แต่มีแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มขึ้นในท้องตลาด ต้องมีการแข่งขันเพิ่มมากขึ้น ผู้บริโภคจะอย่างไรก็ชอบของดีและราคาถูก ฉะนั้นเรื่องราคายังคงสำคัญ ส่วนเรื่อง Productivity การลดต้นทุน การปรับเทคโนโลยีให้มีต้นทุนที่แข่งขันได้ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน
การพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทยที่พัฒนาไปในทิศทางดังกล่าว “สถาบันยานยนต์” ได้เตรียมการรับมือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ มุ่งผลักดันอุตสาหกรรมสู่นวัตกรรมขับเคลื่อนแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน จึงได้ร่วมกับ อาร์เอ็กซ์ เทรดเด็กซ์ สนับสนุนการบรรลุเป้าหมาย Sustainable Development Goals สร้างสมดุล 3 เสาหลักสู่มิติแห่งความยั่งยืนด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นแนวคิดในการจัดงาน “Future Mobility Towards Sustainability มุ่งสู่นวัตกรรมการขับเคลื่อนแห่งอนาคตเพื่อความยั่งยืน” โดยมีการจัดงาน สัมมนา Automotive Summit 2024 ในวันที่ 19-20 มิถุนายน 2567 แบ่งออกเป็น 3 เซ็กชั่นหลัก ดังนี้
มุมมองของเศรษฐกิจ ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญมาแชร์มุมมองว่าประเทศไทยจะไปต่ออย่างไร เรื่องนี้มีความสำคัญเพราะประเทศเพื่อนบ้านอย่างอินโดฯ ก็กำลังส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ ขณะที่ประเทศไทยไม่ได้มีแบรนด์เป็นของเราเอง ถามว่าถ้าเป็นค่ายรถยนต์จะเลือกไปอยู่ที่ไหน เขาต้องเลือกไปอยู่ในประเทศที่ลงทุนแล้วแข่งขันได้ ไทยเองปรับตัว ทำให้ต้นทุนต่ำลง มี Productivity ดีขึ้น Skill ของแรงงานต้องดีขึ้น นี่คือการบ้านที่ไทยต้องเตรียมตัว
ด้านสิ่งแวดล้อมตอนนี้มาถูกทางแล้ว ไม่ได้หมายความว่ารถสันดาปจะอยู่ไม่ได้นะ นโยบาย 30@30 ที่บอกว่า 30% ของรถที่ผลิตในประเทศปี 2030 เป็น BEV แต่ยังมีอีก 70% เป็น ICE เพียงแต่ว่าจะเป็น ICE ยุคใหม่ ที่มีความสะอาด มีประสิทธิภาพ ประหยัดและปลอดภัยมากขึ้น
ในมุมมองสังคม หลายคนคิดไม่ถึงว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไปเกี่ยวกับสังคมอย่างไร ประเทศไทยเรามีอุบัติเหตุบนท้องถนนติดสถิติระดับโลก ตรงนี้ถ้าทำวิจัยส่วนใหญ่เกิดจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ จึงมีกฎหมายมาควบคุมเข้มเรื่องความปลอดภัย แต่ว่าในมุมของตัวรถยนต์เอง อุตสาหกรรมรถยนต์ก็จะมีการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อที่จะช่วยลดความเสียหายบนท้องถนน ทั้งกับตัวผู้ขับขี่เอง ผู้โดยสาร รวมไปถึงคนเดินถนน หรือคนที่อยู่รอบข้างที่ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับรถคันนั้นเลย ก็เป็นมุมของสังคมที่อุตสาหกรรมรถยนต์ก็พยายามตอบโจทย์เรื่องของเซฟตี้ รถยนต์รุ่นใหม่ๆ จะระบบเซฟตี้ มีสมาร์ทซีสเท็มต่างๆ มากขึ้น
7 ก.ค. 2567