X

ฮับแบตเตอรี่ EV ฝันที่ไม่ไกลเกินจริงของไทย!

Last updated: 29 ก.ย. 2567  |  258 จำนวนผู้เข้าชม  | 

“ฮับแบตเตอรี่ EV”

มูลค่าตลาดแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทยที่จะพุ่งสูงเฉียด 1 แสนล้านบาทในปี 2030 จากนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ของรัฐบาล บวกกับผลพวงจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่อเมริกาและยุโรปหลายประเทศประกาศขึ้นภาษี EV จากจีน เป็นโอกาสสุดท้าทายของไทยว่าจะดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้ได้มากน้อยแค่ไหน...

  • ความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทยเพิ่มขึ้น เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ทำให้เกิดความต้องการใช้แบตเตอรี่รวม ไม่น้อยกว่า 34 GWh ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าตลาดไม่น้อยกว่า 98,000 ล้านบาท
  • ผลจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และการประกาศขึ้นภาษี EV จีนจากสหรัฐ ทำให้บริษัทผู้ผลิตแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ต้องตัดสินใจขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เป็นโอกาสของภูมิภาคอาเซียน รวมถึง “ไทย”
  • ในปีนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละราย จะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท


Bangkok Bank SME ออกบทวิเคราะห์ตลาดแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทยไว้ใน Mega Trends & Business Transformation ไว้อย่างเจาะลึก น่าสนใจ...ดังนี้

การจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าใหม่เกือบ 14 ล้านคันทั่วโลกในปี 2566 ทำให้มียอดจำหน่ายรถที่ขับบนท้องถนนเพิ่มเป็น 40 ล้านคัน จากรายงานของ Global EV Outlook (GEVO-2023) ฉบับปี 2566  ระบุว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2566 สูงกว่าปี 2565 ถึง 3.5 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 35% เมื่อเทียบเป็นรายปี สูงกว่าปี 2561 มากกว่า 6 เท่าในระยะเวลาเพียง 5 ปี   

โดยรถยนต์ไฟฟ้าคิดเป็นประมาณ 18% ของรถยนต์ทั้งหมดที่จำหน่ายในปี 2566 เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปี 2565  แนวโน้มเหล่านี้บ่งชี้ว่าการเติบโตยังคงแข็งแกร่ง นั่นจึงเป็นปัจจัยหนุนให้ความต้องการใช้แบตเตอรี่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเช่นกัน



ตลาดแบตเตอรี่โตพรวด

ทั้งนี้ จากการประเมินความต้องการแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ มีอัตราเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2020-2023 ขยายตัวเฉลี่ย 68% ต่อปี (CAGR) อยู่ที่ GWH คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 19% ต่อปี มาอยู่ที่ 2,370 GWh ในปี 2030

ความต้องการที่เพิ่มขึ้น เป็นผลจากนโยบายส่งเสริมการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า 30@30 ทำให้มีการเพิ่มรถยนต์ไฟฟ้าประมาณ 32.6-75 GWh ยานยนต์เชิงพาณิชย์ และรถบัสไฟฟ้า รวม 1.5-23 GWh และมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าประมาณ 0.67-1.35 GWh ทำให้เกิดความต้องการใช้แบตเตอรี่รวม ไม่น้อยกว่า 34 GWh ภายในปี 2030 คิดเป็นมูลค่าตลาดแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ไม่น้อยกว่า 98,000 ล้านบาท ในปี 2030

โอกาส มาพร้อมความท้าทาย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ ยังมีความท้าทายพอสมควร จากการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่รุนแรง ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีไปอย่างรวดเร็ว ประกอบกันต้นทุนลดลงต่อเนื่อง จากทั้งเทคโนโลยีใหม่ ๆ และการค้นพบแหล่งวัตถุดิบแร่สำคัญ ๆ เพิ่มขึ้น ดังนั้น คนที่ลงทุนก่อน จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกดิสรัปต์โดยง่าย

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนในประเทศจีน ผู้นำในตลาดอีวี (EV) และตลาดแบตเตอรี่ โดยในวงการยานยนต์ คาดว่า จีนจะส่งออก EV สู่ต่างประเทศได้เพิ่มขึ้น จาก 240,000 คันในปี 2023 เป็น 1 ล้านคันในปี 2025 หรือเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวในเวลา 2 ปี  นั่นจึงทำให้ผู้ผลิตจีนมีการปรับปรุงคุณภาพแบตเตอรี่อย่างต่อเนื่อง มุ่งหวังเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของแบตเตอรี่ให้มากขึ้น และลดต้นทุนที่ต่ำลง ช่วยลดปัญหาการใช้ EV ในช่วงวันหยุดที่ผู้ใช้ EV จำนวนมาก ต้องอดทนรอเข้าชาร์จนานกว่า 1 ชั่วโมงในสถานีชาร์จ และยังต้องรออีก 40-50 นาทีโดยเฉลี่ยในการชาร์จแบตฯ

รายงานของพันธมิตรส่งเสริมโครงสร้างพื้นฐานการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของจีน  ระบุว่า ในปี 2566 ช่วงวันหยุดยาว จำนวนคิวชาร์จแบตเตอรี่ EV ที่มีจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ทางหลวง และสถานีชาร์จในหลายพื้นที่ยังมีจำนวนจำกัด ส่งผลให้จีนมุ่งเน้นกับการให้ความสำคัญกับนวัตกรรมในหลายด้าน ทั้งการพัฒนาคุณภาพแบตเตอรี่ให้ยาวนาน รวมถึงการสลับแบตเตอรี่ ให้สะดวกมากยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ ในปัจจุบัน การผลิตแบตเตอรี่ของจีนยังใช้ลิเธียมและโคลบอลต์เป็นวัตถุดิบพื้นฐาน โดยมีอายุการใช้งานราว 10-20 ปี ซึ่งจะเชื่อมโยงมาถึงบริการด้านการขายของผู้ผลิต EV ที่ต้องเสนอการรับประกันแบตเตอรี่ในช่วงเวลา 8-10 ปีนับจากซื้อรถ หรือรับประกันตามระยะทางที่กำหนดราว 160,000 กิโลเมตร เพื่อจะได้ไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงเรื่องการเปลี่ยนแบตเตอรี่ นั่นจึงทำให้ผู้ผลิตแบตเตอรี่ต้องสร้างความร่วมมือกับผู้ผลิต EV อย่างใกล้ชิด หรือบางรายก็เป็นเจ้าเดียวกันเลย



เทคโนโลยีแบตเตอรี่ EV ไม่หยุดพัฒนา

เทคโนโลยีแบตเตอรี่ยุคใหม่ ช่วยให้การชาร์จ EV สั้นลง และสามารถวิ่งได้ไกลขึ้น ถึงระยะทาง 500 กิโลเมตรต่อการชาร์จ นี่กลายเป็นเงื่อนไขขั้นต่ำที่ค่ายรถ EV จีนนิยมใช้ ก่อนเปิดตัวรถรุ่นใหม่ในระยะหลัง

ยกตัวอย่าง Contemporary Amperex Technology Co., Ltd. (CATL) นับเป็นผู้ผลิตแบตเตอรี่ EV ชั้นนำของโลก  โดย CATL เป็นพันธมิตรในการผลิตแบตเตอรี่ระยะยาวให้กับ Tesla ที่ผลิตในจีน  เช่นเดียวกับ BYD เพิ่งเปิดตัวแบตเตอรี่ “Blade” ในการขับเคลื่อน EV ของหลายยี่ห้อ อาทิ Tesla , Ford , Kia , Hyundai และ Toyota   แบตเตอรี่รุ่นนี้จะใช้ lithium-Iron-Phosphate เป็นวัสดุพื้นฐาน และยังคงรักษาคุณลักษณะพิเศษในการออกแบบ ช่วยทำให้ประหยัดพื้นที่และน้ำหนัก และมีความหนาแน่นของพลังงานสูงในราคาถูกกว่า ซึ่งเป็นจุดเด่นสำคัญที่อาจเปลี่ยนเกมการแข่งขันในอนาคต

และที่สำคัญ BYD สามารถยกระดับประสิทธิภาพด้านพลังงานแบตเตอรี่ตัวใหม่ เพิ่มขึ้นจาก 150 Wh/kg เป็น 190 Wh/kg ซึ่งจะทำให้ EV สามารถแล่นได้ 1,000 กิโลเมตรต่อการชาร์จ เกินกว่าเงื่อนไขขั้นต่ำที่กำหนดไปแล้ว



นอกจากนี้ ยังเตรียมพัฒนาแบตเตอรี่รุ่นต่อไป โดยจะเพิ่มพลังงานและอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ใช้วัสดุใหม่ที่มีปริมาณอยู่มาก ราคาถูกกว่าลิเธียม  และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม  เช่น แบตเตอรี่กราฟีน (Graphene) สามารถชาร์จใหม่ได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที , ซิงค์-ไอออน (Zinc-ion) มีความเสถียรมากกว่าแบตลิเธียม และแบตโซเดียม-ไอออน (Sodium-ion) ซึ่งเหมาะกับ EV ที่วิ่งในระยะสั้น และรถยนต์ไฟฟ้าไฮบริด แถมยังทํางานได้ดีขึ้นในอุณหภูมิต่ำ และชาร์จได้อย่างรวดเร็ว

จีนเจ้าตลาดแบตเตอรี่

ด้วยการพัฒนาที่ก้าวหน้า ทำให้ปัจจุบัน ประเทศจีนเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ของโลก ผู้ผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์จากจีน มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันกว่าร้อยละ 60 โดย CATL มีส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่ง ด้วยสัดส่วนถึงร้อยละ 37 บริษัทเหล่านี้มิได้ผลิตแบตเตอรี่ป้อนให้กับค่ายรถยนต์ไฟฟ้าจีนเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่าย และทำผลิตป้อนให้กับค่ายรถยนต์ชั้นนำทั่วโลก

เช่น CATL ผลิตแบตเตอรี่ให้กับ Tesla, Ford, BMW, Mercedes-Benz, Volkswagen, Kia และเป็นพันธมิตรกับ Toyota ขณะที่ Gotion มี Volkswagen เข้าไปถือหุ้นใหญ่ เพื่อร่วมกันวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีแบตเตอรี่ในอนาคต ส่วน EVE Energy ผลิตป้อนให้กับ BMW และ SVOLT  และ Sunwoda ก็ผลิตแบตเตอรี่ให้กับแบรนด์ชั้นนำจากหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็น Renault, Nissan, Volkswagen, Volvo เป็นต้น

โอกาสไทยในตลาดแบตเตอรี่

ผลจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น และการประกาศขึ้นภาษี EV จีนจากสหรัฐ อาจจะทำให้บริษัทเหล่านี้ ต้องตัดสินใจขยายฐานการผลิตออกนอกประเทศจีน เพื่อรองรับความต้องการที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากทั่วโลก รวมทั้งลดความเสี่ยงจากปัญหาความขัดแย้ง ระหว่างขั้วมหาอำนาจที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งผู้ผลิตบางส่วนได้เริ่มลงทุนสร้างโรงงานแบตเตอรี่ในโซนยุโรปและสหรัฐแล้ว เป้าหมายต่อไปคือ ภูมิภาคอาเซียน รวมถึง “ไทย” ที่กำลังเร่งดึงการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้

มุมมอง “นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์” เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ภายหลังจากนำคณะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทผลิตแบตเตอรี่ชั้นนำระดับโลกจากจีน 7 ราย ได้แก่ CATL, CALB, IBT, Eve Energy, Gotion High-tech, Sunwoda และ SVOLT Energy Technology เมื่อเดือนเมษายน 2567 ที่ผ่านมา ให้ความมั่นใจว่า ทุกบริษัทมองเห็นโอกาสทางธุรกิจในไทย และให้ความสนใจต่อมาตรการส่งเสริมการลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และระบบกักเก็บพลังงาน ที่บีโอไอเพิ่งออกมาเมื่อเร็ว ๆ นี้  เพื่อดึงให้ผู้ผลิตระดับโลกเข้ามาตั้งฐานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ อุตสาหกรรมต้นน้ำที่ใช้เทคโนโลยีและองค์ความรู้ด้านเคมีและวัสดุศาสตร์ขั้นสูง ใช้เงินลงทุนสูง และเป็นหัวใจสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทย



มาตรการนี้ จะให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้ลงทุนหลายด้านที่สำคัญต่อการตัดสินใจลงทุน ทั้งการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักรและวัตถุดิบ และเงินสนับสนุนจากกองทุนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายบางส่วนในการลงทุน การวิจัยและพัฒนา และการพัฒนาบุคลากร

ผู้ผลิตแบตเตอรี่ทั้ง 7 ราย มองว่าประเทศไทยมีจุดแข็งหลายด้าน โดยเฉพาะการที่รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าที่ชัดเจนและต่อเนื่อง จะทำให้มีความต้องการใช้เซลล์แบตเตอรี่จำนวนมากในอนาคต

จะเห็นได้จากตลาดยานยนต์ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด ทั้งรถยนต์ BEV, PHEV และ HEV อีกทั้งภาครัฐมีมาตรการสนับสนุนครอบคลุมยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์นั่ง รถกระบะ ไปจนถึงรถบัส รถบรรทุก และเรือไฟฟ้า ซึ่งจำเป็นต้องใช้แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เป็นส่วนประกอบ

คาดว่าในปีนี้ ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างน้อย 2 ราย จะมีความชัดเจนในการเข้ามาลงทุนผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในไทย โดยแต่ละราย จะมีขนาดกำลังการผลิตในเฟสแรกประมาณ 6-10 GWh มูลค่าเงินลงทุนเฟสแรกรวมกันกว่า 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้ภายใน 2 ปีข้างหน้า ประเทศไทยจะมีโรงงานผลิตเซลล์แบตเตอรี่ขนาดใหญ่เกิดขึ้น

ถือเป็นอีกก้าวสำคัญ ที่จะช่วยเติมเต็มซัพพลายเชนและทำให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในไทยมีฐานที่มั่นคงในระยะยาว

อ้างอิง : บทวิเคราะห์เรื่อง ชาร์จ 15 นาที วิ่งได้ไกลกว่าเดิม? เมื่อแบตเตอรี่ EV ถูก Transformation ให้เทคโนโลยีล้ำไปไกลกว่าที่โลกเคยมี / Mega Trends & Business Transformation / เผยแพร่ 26/09/2024

ที่มา : Bangkok Bank SME

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้