X

ภาครัฐฯ หนุนยานยนต์ไฟฟ้า-สถานีชาร์จฯ

Last updated: 16 Apr 2023  |  398 Views  | 

ภาครัฐฯ หนุนยานยนต์ไฟฟ้า-สถานีชาร์จฯ

เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2565 นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน แถลงผลการดำเนินงานของกระทรวงพลังงาน ประจำปี 2565 และแผนการดำเนินงานในปี 2566 โดยได้กล่าวถึงทิศทางของนโยบายพลังงานในปี 2566 ว่า กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน นอกจากต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) รวมทั้งปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV)  การลงทุนสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้า

 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวถึงการส่งเสริมการลงทุนและกระตุ้นเศรษฐกิจว่ามีการส่งเสริมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไฟฟ้า โครงการพลังงานทดแทนเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก และโครงการอื่นๆ รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 260,000 ล้านบาท โดยในส่วนของยานยนต์ไฟฟ้าจะส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อรองรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ปัจจุบันมีอยู่ 869 สถานีทั่วประเทศ

 นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่าสนพ.มีแผนงานด้าน EV โดยขับเคลื่อนแผนงานด้านพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งการส่งเสริมการจัดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า ด้วยการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการการจัดตั้งสถานี เช่น การกำหนดค่าไฟของผู้ให้บริการที่อัตรา Low Priority การให้สิทธิประโยชน์ BOI รวมทั้งส่งเสริมอุตสาหกรรมแบตเตอรี่สำหรับ EV ร่วมกับกรมสรรพสามิต ออกมาตรการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมผลิตแบตเตอรี่ระดับเซลล์ในประเทศภายในปี 2568

นอกจากนี้ เพื่อสนับสนุนการพัฒนา EV ได้มีการตั้งคณะทำงานจัดทำแผนปฏิบัติงาน เพื่อการกำกับดูแลการประกอบกิจการสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมน้ำมันเชื้อเพลิง กำหนดรูปแบบการส่งเสริมการติดตั้งและกำกับดูแลสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในบริเวณพื้นที่สถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในปี 2566 เกี่ยวกับแนวทางการส่งเสริมการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า รูปแบบการดำเนินการ การกำกับดูแลและข้อกฎมาย เพื่อให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้าในพื้นที่สาธารณะในปี พ.ศ. 2573 จำนวน 12,000 หัวจ่าย
 

ด้านนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2565 ว่า กระทรวงอุตสาหกรรมได้เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบาย EV อย่างต่อเนื่อง โดยเร่งรัดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) นำมาตรฐานแบตเตอรี่ไฟฟ้า ทั้งมอเตอร์ไซค์ และรถยนต์ รวมทั้งสถานีชาร์จ เสนอบอร์ดเพื่อขอความเห็นชอบในการบังคับใช้มาตรฐานโดยกำหนดให้เป็นสินค้าควบคุมเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค

ที่ผ่านมากระทรวงอุตสาหกรรมได้จัดทำมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องออกมาอย่างต่อเนื่อง ประกาศใช้แล้วจำนวน 128 มาตรฐาน เช่น จักรยานยนต์ไฟฟ้า รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า ระบบการสื่อสารระหว่างรถยนต์ไฟฟ้ากับโครงข่ายไฟฟ้า ระบบขับเคลื่อนรถยนต์ไฟฟ้า ระบบเบรกของรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า เต้าเสียบและเต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า เซลล์และแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนสำหรับดัดแปลงรถจักรยานยนต์ที่ใช้น้ำมันเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้า ระบบจอดอัตโนมัติของรถยนต์ สมรรถนะของมอเตอร์สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าในรถยนต์ EV เป็นต้น

 การกำหนดมาตรฐานดังกล่าวอ้างอิงมาจากข้อกำหนดและมาตรฐานระหว่างประเทศ ครอบคลุมทั้งด้านความปลอดภัย และด้านการใช้พลังงาน และทั้ง 128 มาตรฐานนั้นยังเป็นมาตรฐานภาคสมัครใจที่กระทรวงอุตสาหกรรมมีนโยบายส่งเสริมให้ผู้ประกอบการยื่นขอการรับรอง แต่เนื่องจากปัจจุบันแนวโน้มการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามกระแสโลก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงต้องมีการพิจารณาบังคับใช้มาตรฐานที่เกี่ยวข้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามไปด้วย

 นายบรรจง สุกรีฑา เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) เปิดเผยว่า ในปีงบประมาณ 2566 สมอ. มีแผนการกำหนดมาตรฐานยานยนต์ไฟฟ้าอีกจำนวน 28 เรื่อง เช่น รถยนต์ไฟฟ้า รถกระบะไฟฟ้า สำหรับมาตรฐานแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่รถยนต์ไฟฟ้า ที่สมอ. เตรียมประกาศบังคับใช้มาตรฐานนั้น ข้อกำหนดในมาตรฐานจะมีการทดสอบโดยการจำลองสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุ แบตเตอรี่จะต้องไม่เกิดการรั่วไหลของอิเล็กโทรไลต์ (สารเคมีซึ่งอยู่ในแบตเตอรี่ที่อาจติดไฟได้) ไม่มีการแตกร้าว ไม่มีการปล่อยก๊าซออกมา และไม่มีไฟไหม้หรือการระเบิด เป็นต้น

 

ส่วนมาตรฐานสถานีชาร์จ จะมีการทดสอบความปลอดภัย เช่น สถานีชาร์จที่ได้มาตรฐานเมื่อชาร์จเต็ม 100% แล้ว แหล่งจ่ายจะต้องไม่ปล่อยกระแสไฟเพิ่มอีก มีการทดสอบเพื่อป้องกันการเกิดไฟฟ้าช๊อตในขณะชาร์จ รวมถึงการรบกวนของสนามแม่เหล็กไฟฟ้า เป็นต้น ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีสถานีชาร์จกระจายอยู่ทั่วประเทศ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมเพื่อให้มีความปลอดภัยต่อประชาชนผู้บริโภค และเป็นมาตรฐานที่ทำให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจและหันมาสนใจใช้รถไฟฟ้ามากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  and  นโยบายคุกกี้