Last updated: 4 Oct 2023 | 1443 Views |
นวัตกรรม มินิ อีวี ชาร์จเจอร์ (เต้ารับ) ที่ตอบโจทย์การชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าของธุรกิจโรงแรม รีสอร์ท และคอนโด
ราคาสุดปัง!
ยอดจองรถยนต์ไฟฟ้าที่พุ่งกระฉูดตั้งแต่ปีที่แล้ว ต่อเนื่องถึงต้นปีนี้ ทำให้ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีทำเลดี ๆ อย่าง ปั๊มน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร โรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม ฯลฯ มองเห็นโอกาสการลงทุนในสถานีชาร์จฯเพื่อดึงดูดให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าเข้ามาใช้บริการ
ตามปกติ ระยะเวลาในการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า เร็วที่สุดจะอยู่ที่ 30 นาที ช้าที่สุด 8-10 ชั่วโมง นั่นคือโจทย์สำคัญที่เจ้าของทำเลต้องนำไปขบคิด และเลือกลงทุนในสถานีอัดประจุไฟฟ้าหรือสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าให้เหมาะสม ตรงกลุ่มเป้าหมายที่จะเข้าไปใช้บริการในทำเลที่สถานประกอบการนั้นๆตั้งอยู่ให้มากที่สุด
หลายเดือนที่ผ่านมาจึงเห็นห้างสรรพสินค้า คอนโดมิเนียม ปั๊มน้ำมัน และจุดพักรถหลายแห่งลงทุนสร้างสถานีชาร์จทั้งแบบชาร์จเร็ว DC (Fast Charge) และชาร์จปกติ AC (Normal Charge) กันอย่างคึกคักเป็นพิเศษ
ด้วยต้นทุนสถานีชาร์จ AC เริ่มต้นจาก 50,000-60,000 บาท และสถานีชาร์จ DC ที่มีราคาสูงถึง 1-3 ล้าน ต่อ 1 หัวชาร์จ ทำให้มีผู้ประกอบการบางส่วนเห็นว่าเป็นการลงทุนที่สูงจึงชะลอการลงทุนออกไป
แต่มีผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม มองเห็นศักยภาพของตลาดส่วนนี้ และมองหาสถานีชาร์จที่ใช้เงินลงทุนไม่สูงทว่าสามารถให้บริการลูกค้าที่ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่ไม่เร่งรีบ ต้องการชาร์จในเวลาที่เข้าไปใช้บริการห้องพักช่วงกลางคืน ที่มีระยะเวลายาวนานหลายชั่วโมง
ในที่สุดมาลงตัวกับ “ปู ป้า ปลั๊ก” สถานีชาร์จไซส์มินิ ที่ราคาโดนใจ เพียง 6,500 บาท “PUPAPLUG” “ปูป้าปลั๊ก” ที่พัฒนาขึ้นมาโดยทีมงานในโครงการ PEA Innovation Hub ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เลยตอบโจทย์ธุรกิจเหล่านี้ได้แบบลงตัว...
ปู-ป้า-ปลั๊ก เต้ารับสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า ที่ตอบโจทย์หมุดหมายแห่งการพักแรมค้างคืน
“ปู-ป้า-ปลั๊ก” อาจจะเป็นชื่อที่ไม่คุ้นเคยกันนักสำหรับผู้ใช้รถยนต์ทั่วไป แต่ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าที่เดินทางตามต่างจังหวัดและต้องการหาที่พักที่ให้บริการชาร์จรถอีวีเอาไว้ทั้งคืนน่าจะเคยรู้จักกันบ้างไม่มากก็น้อย
หากนำชื่อนี้ไปถามเจ้าของโรงแรม รีสอร์ท ในต่างจังหวัด หรือคอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ เชื่อว่าหลายคนคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี เพราะมีสถานประกอบการบางแห่งมี ปู-ป้า-ปลั๊ก PUPAPLUG ให้บริการลูกค้าที่ต้องการชาร์จรถอยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ถ้าใครเคยติดตามข่าวสารผ่านเว็บไซต์ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) หรือติดตามดูคลิปวิดีโอของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคผ่านช่องทางยูทูปและเพจต่างๆ ก็จะรู้จักปู-ป้า-ปลั๊ก จากหนังวิดีโอที่มีนักแสดงคนเดียวในหลายบทบาท และสะดุดใจกับราคาเต้ารับที่รองรับการชาร์จที่มีราคาเพียง 6,500 บาทเท่านั้น
การสื่อตรงสู่กลุ่มเป้าหมายของทีมงานปู-ป้า-ปลั๊กผ่านหนังวิดีโอจากนักแสดงวิดีโออารมณ์ดีที่เข้าใจง่าย ตรงประเด็น นั้นมีอิมแพคแรงในระดับที่สามารถขายเต้ารับสำหรับสร้างสถานีไฟฟ้าได้หมด 1 พันตัว และผลิตเพิ่มอีก 1 พันตัว ภายในระยะเวลาไม่ถึงปี
มาทำความรู้จักทีมงานที่ร่วมกันสร้างสรรค์ ปู-ป้า-ปลั๊ก กันดีกว่าว่าพวกเขาคิด และลงมือทำอย่างไร? จึงสามารถพัฒนาโพรดักส์ให้ตอบโจทย์ผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม ได้อย่างลงตัวขนาดนี้....
จุดเริ่มต้นของโครงการ PUPAPLUG “ปูป้าปลั๊ก”
เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2562 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมีนโยบายส่งเสริมการศึกษา การวิจัย การสร้างนวัตกรรม และพัฒนางานที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงานไฟฟ้าเพื่อขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ “PEA Digital Utility” มุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม ส่งเสริมการจัดการความรู้อย่างต่อเนื่อง ในรูปแบบ Innovation Hub ทำให้มีทีมงานนวัตกรรมหลายทีมเข้ามาสร้างสรรค์ผลงานคุณภาพขึ้นมาจำนวนมาก
ทีมพนักงานการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ที่ประกอบด้วยนายชาติชาย โสบุญ CEO & Co-Founder นางสาวปัจฉิมาพร กุลสิงห์ CTO & Co-Founder และนายเตชวัฒน์ แช่มช้อย CMO & Co-Founder เป็นหนึ่งในทีม Innovation Hub รุ่นที่ 2 ที่ได้รับภารกิจให้สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ให้กับ กฟภ.
“ทีมเราเข้าร่วมโครงการอินโนเวชั่น ฮับ รุ่นที่ 2 ตอนนั้นอีวีกำลังเป็นเมกะเทรนด์ เราเริ่มต้นจากมาคิดกันว่าจะทำอะไรเกี่ยวกับอีวี มองว่าตลาดรถอีวีจะเกิดขึ้นได้ต้องมีสถานีชาร์จเพียงพอ จึงมีแนวคิดพัฒนาปูป้าปลั๊กขึ้นมาเมื่อเดือนมกราคม ปี 2563” ชาติชาย เล่าถึงจุดเริ่มต้นโครงการ
“แต่ละคนในทีมมาจากคนละที่กัน ก่อนหน้านี้ส่วนตัวเคยทำเกี่ยวกับฮาร์ดแวร์ซอฟท์แวร์มาก่อน ทำให้มีทักษะเฉพาะตัวมาบ้าง พอมารวมกับทีมที่มีความสามารถคนละด้าน ก็ทำให้พัฒนาโพรดักส์ขึ้นมาได้” ปัจฉิมาพรบอกถึงการรวมตัวทำงานร่วมกันในครั้งนั้น
การมีที่มาแตกต่างกันทำให้ทีมงานแต่ละคนมีความสามารถคนละด้าน “ชาติชาย” มีความชำนาญทางด้านมาตรฐาน รับหน้าที่ดูแลการติดตั้ง และการดีไซน์ “เตชวัฒน์” ชำนาญการตลาด จึงดูแลด้าน customer service ส่วนปัจฉิมาพรนั้นจบด้านวิศวกรรมไฟฟ้า ชำนาญด้านเทคนิค จึงรับผิดชอบการออกแบบโพรดักส์ และทำแอพพลิเคชั่น
หลังจากศึกษาศักยภาพตลาดยานยนต์ไฟฟ้าอย่างรอบด้าน ทุกคนตัดสินใจร่วมกันว่าต้องการทำโครงการเกี่ยวกับสถานีชาร์จยานยนต์ไฟฟ้า ณ เวลานั้น เป็นช่วงต้นปี 2563 จึงได้เริ่มต้นโครงการด้วยการนำโจทย์การสร้างสถานีชาร์จ AC และ DC ลงพื้นที่สำรวจความต้องการของลูกค้า...
“ตอนนั้นได้ลองนำเอาสถานีชาร์จ เอซี ชาร์จเจอร์ ดีซี ชาร์จเจอร์ ไปลองขายดู พบว่ากำลังซื้อคนไม่ได้เยอะขนาดนั้น อย่างตู้ดีซีจุดหนึ่งต้องลงทุน 1 ล้าน บางตู้ลงทุนตั้ง 3 ล้าน ทำไมต้องลงทุนตั้ง 2-3 ล้าน? เราขมุกขมัวอยู่อย่างนี้ประมาณครึ่งปี ไปคุยกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องเยอะแยะมากมาย จนปิ๋งไอเดียมาอันนึงว่า จริงๆ คนไม่ได้ต้องการสถานีชาร์จ เขาต้องการแค่ให้ได้ไฟมาชาร์จรถ ซึ่งการชาร์จแค่เสียบปลั๊กก็ทำได้ แต่ปัญหาใหญ่ที่สุดคือความช้า เราจะแก้ความช้าได้อย่างไร ทำให้ได้อินโนเวชั่นออกมาเป็นการเลือกสถานที่ติดตั้งที่คนจะไม่กังวลเรื่องความช้า อย่างรีสอร์ท โรงแรม และคอนโดมิเนียม” ชาติชายเล่าถึงที่มาของไอเดียธุรกิจเต้ารับรถยนต์ไฟฟ้าที่จุดประกายขึ้นจากการทำงานของ “
ทีมเล็กๆ” ที่มีความถนัดคนละด้านร่วมกันลงพื้นที่สำรวจความต้องการของผู้ประกอบการจนได้ข้อสรุปว่าจะทำธุรกิจเต้ารับ PUPAPLUG ปูป้า ปลั๊ก ที่มีรูปทรงคล้ายดักแด้ หมายถึงการเริ่มต้นทำธุรกิจชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า ด้วยงบลงทุนไม่สูงมากนัก
“ธุรกิจเราเป็นแบบ บีทูบี ทูซี ทำอุปกรณ์มาตัวหนึ่งให้ผู้ประกอบการเอาอุปกรณ์นี้ให้บริการแก่ลูกค้าที่เป็นผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าอีกต่อ โจทย์ของเราคือต้องการทำเครื่องชาร์จ แต่เราทำเป็นแค่เต้ารับเพื่อให้ราคาถูกลงในระดับที่ลูกค้าลงทุนได้ สิ่งที่เราทำคือการเซอร์วิสคนสองฝั่ง คือฝั่งที่เป็นผู้ประกอบการ กับฝั่งที่เป็นผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า สำหรับผู้ใช้รถโจทย์ไม่ซับซ้อน แค่ให้สแกนคิวอาร์โค๊ดจ่ายเงิน แล้วชาร์จไฟได้เขาก็โอเคแล้ว”
ดังนั้นโจทย์ใหญ่ทางการตลาดของทีมคือต้องมาคิดว่าผู้ประกอบการต้องการฟีเจอร์อะไรบ้างที่สำคัญ ผู้ประกอบการต้องเห็นรายได้ มองเห็นปริมาณการใช้ไฟ ต้องสามารถตั้งราคา ตั้งเวลาเปิด-ปิดได้ ตั้งอุปกรณ์ ตั้งชื่อ ขึ้นสถานี ตั้งแมปได้ เมื่อสรุปโจทย์ได้ชัดเจนทีมได้มอบหมายให้ “ปัจฉิมาพร” เป็นผู้พัฒนาเต้ารับปู ป้า ปลั๊กให้เป็นรูปร่างขึ้นมา ทั้งงานฮาร์ดแวร์ ซอฟท์แวร์ เรียกว่าลงมือเขียนโค๊ดด้วยตัวเองทุกตัว
ร่วมกันพัฒนาโพรดักส์ให้ตอบโจทย์การใช้งาน
“การทำงานเราร่วมกันทำเป็นโปรโตไทป์ขึ้นมา ลองเทสต์ฟีเจอร์ เทสต์ฟังก์ชั่น นำรถอีวีของเพื่อนพนักงานการไฟฟ้ามาลองชาร์จดูว่าเขาชอบฟังก์ชั่นแบบที่เราคิดกันขึ้นมาไหม ได้ลองทำวิธีการจ่ายเงินหลาย ๆ แบบ ให้ผู้ใช้รถอีวีฟีดแบ็คกับเรา แล้วเอามาปรับปรุงว่าชอบหรือไม่ชอบ แบบไหน ทดลองทำวนไปมาจนมั่นใจว่าใช่” ปัจฉิมาพร เล่าถึงวิธีการทำเต้ารับชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาให้ตรงความต้องการของกลุ่มเป้าหมาย
สเปคเต้ารับของปูป้าปลั๊กเป็นมาตรฐานเดียวกับเต้ารับ มอก. นั่นคือจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุด 3.7 กิโลวัตต์ 16 แอมป์ 230 โวลต์ 1 เฟส เหมือนเต้ารับตามบ้าน ทว่ามีความแตกต่างตรงที่เต้ารับจะมีการติดตั้ง 1 ตัวต่ออุปกรณ์ป้องกัน 1 ชุด ไม่มีการพ่วงการใช้งานหลายจุดเพื่อป้องกันไม่ให้กระแสไฟเกิน ไม่ให้ใช้ไฟโอเวอร์โหลด ที่เป็นต้นเหตุให้เกิดปัญหาไฟไหม้
“เวลาชาร์จรถหนึ่งคันต้องใช้ไฟประมาณแอร์ตัวใหญ่ๆ 1 เครื่อง กระแสจะสูง พอเป็นเต้ารับที่เราพัฒนาขึ้น ทำไมถึงปลอดภัย เพราะเราเดินไฟแยกออกมา ใช้เบรกเกอร์หนึ่งตัวต่อเต้ารับหนึ่งตัว สเปคของพาร์ทที่นำมาประกอบได้มาตรฐาน มอก. สามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งคืน ไม่เกิดปัญหาไฟไหม้แน่นอน”
ขณะเดียวกันในส่วนของการพัฒนาแอพพลิเคชั่นขึ้นมารองรับการใช้งานนั้น จะมีการทำงานคล้ายๆกับการพัฒนาเต้ารับคือมีการสอบถามความต้องการของลูกค้าโดยตรง แล้วมาทำเป็นดราฟท์ วาดรูปคร่าวๆ แล้วนำไปให้ลูกค้าดูว่าการใช้งานเป็นอย่างไร ตอบโจทย์แค่ไหน?
"ดราฟท์ที่ออกมาจะนำไปถามลูกค้า ผู้ประกอบการ ก่อนว่าถ้ามีฟีเจอร์อย่างนี้ กดประมาณนี้โอเคไหม บางฟังก์ชั่นจะได้ฟีดแบ็คว่าใช้เวลานานเกินไปกว่าจะได้ชาร์จรถ เพราะจุดประสงค์ของคนมาชาร์จ บางทีไม่ได้ต้องการสมัครสมาชิก ทำโน่น นี่ นั่น เยอะแยะ เขาแค่อยากจะชาร์จไฟแล้วรีบไป เราสรุปเป็นโพรเสสสั้นๆ ว่าผู้ใช้ต้องการแค่นี้จริงๆ มาพัฒนาเว็บ”ด้วยเต้ารับรถยนต์ไฟฟ้าไม่ได้ทำมาเพื่อใช้กับเครื่องใช้ไฟฟ้าทั่วไป การชาร์จรถยนต์ต้องใช้เวลานาน อีกทั้งมีความเกี่ยวพันกับวิถีชีวิตการใช้งานที่ต้องมีการเดินทาง มีสังคม มีชุมชน จึงต้องพัฒนาโพรดักส์ควบคู่กับแอพพลิเคชั่น ที่ต้องอำนวยความสะดวกให้ลูกค้า และมีการบริการหลังการขายที่ดี
“ช่วงเริ่มทำโปรเจคใช้เวลาพอสมควร เรามานิ่งอยู่ที่เต้ารับประมาณ 6 เดือน แรกๆ จะออกหาลูกค้าแทบทุกวัน พอตัดสินใจได้ว่าจะทำเต้ารับสำหรับชาร์จรถไฟฟ้า ถัดจากนั้นส่วนใหญ่จะใช้เวลากับการทำโปรโตไทป์ แล้วลองเทสต์อีกประมาณครึ่งปี รวมๆ ใช้เวลาประมาณปีนึง กว่าจะเริ่มผลิตจริง”
การจัดจำหน่ายเน้นเข้าถึงกลุ่มลูกค้าตัวจริง
ถึงแม้จะมั่นใจว่าสินค้าตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายสักเพียงไร ก่อนจะเริ่มผลิตสินค้าทีมงานได้ทดลองนำโปรโตไทป์ไปเสนอขายตามโรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม และขอเป็นใบจองมายืนยันจำนวนการผลิตว่าฐานลูกค้ามีจำนวนเพียงพอต่อการผลิตสินค้า โดยได้งบประมาณมาเริ่มต้นสั่งโรงงานในประเทศไทยผลิตออกมาล็อตแรก 1,000 ตัว
“ตอนนั้นมียอดจอง 500-600 ตัว เราผลิตสินค้าออกมาช่วงปลายปี 2563 พอต้นปี 2564 เจอโควิดระบาดหนัก ธุรกิจท่องเที่ยวได้รับผลกระทบมาก โรงแรม รีสอร์ท ไม่มีคนไปพัก อะไรที่รอคืนทุนนานคนก็ไม่อยากลงทุน ทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ทิ้งจอง เหลือรับสินค้าจริงๆเพียงแค่ 10%” เตชวัฒน์เล่าถึงจุดสตาร์ทที่เจอโควิดรับน้องเข้าพอดี
“ปีที่แล้วโควิดเริ่มซา เรากลับเข้าตลาดอีกรอบ ประจวบกับราคาน้ำมันสูงขึ้น รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือเรื่องภาษีรถยนต์ไฟฟ้า งานมอเตอร์เอกซ์โปมียอดจองรถไฟฟ้าสูงสุด เป็นปีที่อาจจะถึงไทม์มิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า เราได้รับกระแสตรงนี้ด้วย คนหันกลับมาสนใจอีกรอบ กลุ่มลูกค้าเริ่มมีรายได้ ทำให้คนที่ทิ้งจองเริ่มกลับมา ลูกค้าที่กลับมาหาเราเป็นกลุ่มลูกค้าประเภทเดิม เป็นกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท และคอนโดมิเนียม มีทั้งรายใหม่รายเก่าปะปนกันไป”
ชาติชาย กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า ปี 2564 ผลิตปูป้าปลั๊กออกมา 1,000 ตัว พอถึงปี 2565 ตลาดเริ่มฟื้น ตั้งเป้าว่าไตรมาส 2 ต้องขายสินค้าให้หมด ปัจจุบันสินค้าล็อตแรกขายหมดแล้ว และมียอดจองที่ค้างส่งอีก 163 เครื่อง ทำให้ต้องผลิตเพิ่มล็อตที่สองอีก 1,000 ตัว “การตลาดของเราเป็นแบบสั่งทำครั้งละพอประมาณ จะไม่ผลิตสินค้ามาสต็อกจำนวนมากจนเกินไป” เขาย้ำ
“เราโฟกัสลูกค้ากลุ่มโรงแรม รีสอร์ท คอนโดมิเนียม ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงแรมทุกๆประเภทที่มีที่จอดรถรวมกัน ประมาณ 2 หมื่นกว่าแห่ง ถ้ามีโรงแรม 10% ใช้ที่ชาร์จของเราก็ถือว่าโอเค ปกติโรงแรมมักมีที่ชาร์จประมาณ 2 เครื่อง เพราะเขาเน้นขายเซอร์วิส ถ้ามีเครื่องเดียว แล้วมีปัญหา ลูกค้าจะไม่มีสิทธิ์เข้าถึงบริการ ฉะนั้นต้องมีอีกเครื่องไว้สำรองให้ลูกค้า ถ้ามีปัญหาจะได้มีใช้”
ด้วยเป้าหมายทางการตลาดที่มีความชัดเจนว่าเป็นลูกค้ากลุ่มที่แวะค้างคืนแล้วชาร์จจึงทำให้ลูกค้าส่วนใหญ่ของปูป้าปลั๊กอยู่ตามต่างจังหวัด ซึ่งเป็นฐานการตลาดเดียวกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เมื่อแนะนำ “ปูป้าปลั๊ก” ให้ลูกค้ารู้จักจึงได้รับการตอบรับในระดับที่น่าพอใจ
“ปัจจุบันมีลูกค้าออนไลน์อยู่ในระบบทั้งหมด 514 เครื่องชาร์จ อยู่ใน 332 สถานที่ มีทั้งรีสอร์ท โรงแรม และคอนโดมิเนียม เป็นกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ท 90-95% ที่เหลือเป็นกลุ่มคอนโดฯในกรุงเทพฯ เท่ากับว่าตอนนี้มีเต้ารับให้บริการอยู่ใน 67 จังหวัด กระจายอยู่ทั่วประเทศ” เตชวัฒน์เปิดเผยถึงการดำเนินงานล่าสุดที่ประสบความสำเร็จอย่างน่าพอใจ
อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมามียอดจองรถยนต์ไฟฟ้า 20,000-30,000 คัน ทำให้เริ่มมีผู้ประกอบการบางส่วนสั่งซื้อเพิ่มเติมเข้ามา “ส่วนใหญ่ที่ซื้อซ้ำจะเป็นคอนโดฯที่ระบบไฟฟ้าเป็นส่วนกลาง จริงๆ ปลั๊กทั่วไปก็เสียบชาร์จได้ คำถามคือจะเกิดข้อกังวลว่าค่าใช้จ่ายตรงนี้ใครเป็นคนรับผิดชอบ ปูป้าปลั๊กจะช่วยให้ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าสามารถแยกชำระค่าบริการได้ นิติฯสามารถบอกลูกบ้านคนอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้ไฟฟ้าตรงนี้ได้ว่าไม่ต้องห่วงค่าใช้จ่ายตรงนี้ มีคนรับผิดชอบค่าใช้จ่ายของเขาไปแล้ว”
กลยุทธ์การตลาดครบเครื่องทั้งออนไลน์และออฟไลน์
ทีมงานปูป้าปลั๊กมีรูปแบบการทำงานแตกต่างจากหน่วยงานราชการทั่วไปตรงที่เป็นการทำงานแบบ “สตาร์ทอัพ” การทำงานจึงคล่องตัวสูง มีความรวดเร็วฉับไว ทำทุกอย่างจบในทีมทั้งหมด ทั้งการพัฒนาและผลิตโพรดักส์ การขายสินค้า รวมทั้งการทำตลาดที่มีความครบเครื่องเหนือความคาดหมาย...
เตชวัฒน์อธิบายถึงวิธีการทำตลาดว่ามีสองทาง คือ ออนไลน์ กับ ออฟไลน์ ส่วนของออนไลน์มีการทำคอนเทนต์ แชร์ทั้งในเพจ และทั่วไป รวมทั้งในไลน์แอด ส่วนออฟไลน์ เป็นจุดแข็งคือการเป็นหน่วยงานหนึ่งของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ทำให้มีฐานข้อมูลผู้ใช้ไฟฟ้าอยู่แล้ว ทำให้รู้ว่าลูกค้าแต่ละรายมีการใช้ไฟฟ้าขนาดไหน ถ้ามีขนาดหม้อแปลงเพียงพอที่จะทำสถานีชาร์จได้ ก็จะขอความร่วมมือไปที่การไฟฟ้าที่หน้างานที่เข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการเหล่านั้นให้ ติดต่อขอเข้าพบลูกค้า
ทั้งนี้การเข้าพบลูกค้านั้นมีทั้งเข้าพบโดยตรง และโดยรวม การเข้าพบโดยรวมจะเป็นช่วงประมาณไตรมาสสุดท้ายของทุกๆ ปี การไฟฟ้าฯจะมีการจัดงานสัมมนาผู้ใช้ไฟในพื้นที่
“เวลาเข้าพบผู้ใช้ไฟในพื้นที่ ทีมงานการไฟฟ้าฯจะสอบถามข้อคิดเห็นว่าปีนี้การบริการเป็นอย่างไร ค่าบริการโอเคไหม การพบปะตรงนั้น จะได้พบกับกลุ่มผู้ประกอบการกลุ่มโรงแรม รีสอร์ท เราจะไปพบเพื่อแนะนำปูป้าปลั๊ก และไปให้ความรู้ สำหรับในพื้นที่มีการติดตั้งอยู่แล้วจะเป็นการไปพบปะเยี่ยมเยือน ไปดูการติดตั้งว่าเป็นอย่างไร ที่สำคัญคือเราจะไปถ่ายภาพ ทำรีวิว ทำคอนเทนต์ เพื่อโปรโมทให้ลูกค้าลงเพจของเราด้วย เป็นการซัพพอร์ตกันทั้งออนไลน์และออฟไลน์ หมุนไปเรื่อยๆ นี่คือคีย์หลักการตลาดของเรา” นอกจากนี้ ทีมงานปูป้าปลั๊กทั้ง 3 คน ยังร่วมกันผลิตคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอเผยแพร่ทาง youtube และเพจ ซึ่งทีมงานร่วมกันพัฒนาขึ้นมาเป็นสื่อตรงอีกช่องทางหนึ่ง
“วิดีโอเราถ่ายทำกันเอง นักแสดงก็มีผมแสดงอยู่คนเดียว ถ่ายเอง ตัดต่อเอง เขียนบทเอง ทำจบกันในทีมสามคน เราเป็นสตาร์ทอัพจริงๆ ไม่ใช่ว่าเราอยู่องค์กรใหญ่แล้วต้องใช้เงินมาซัพพอร์ตมากมาย การทำงานเป็นรูปแบบทีมเฉพาะกิจมากกว่า ตอนนี้พวกเราก็ยังทำงานอยู่กับการไฟฟ้า เป็นพนักงานการไฟฟ้า 100% เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้ก็เป็นรายได้เข้าการไฟฟ้า”เตชวัฒน์อธิบายถึงการทำงานที่แอคทีฟพอๆ กับบริษัทเอกชน
“โจทย์ของเราคือใช้เงินน้อยๆ แต่ได้อิมแพคสูงๆ” ชาติชายกล่าวเสริมพร้อมทั้งขยายความต่อไปว่า... “มีช่องทางหนึ่งที่ทำโปรโมทกันเป็นครั้งๆ คือการไฟฟ้าจะมีกลุ่มไลน์ลูกค้า มีเฟชบุ๊คของแต่ละสำนักงาน ก็จะมีสักช่วงหนึ่ง อย่างล่าสุด เมื่อวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา เราขอความร่วมมือให้ทุกคนแชร์คอนเทนท์ของเราพร้อมกันทั่วประเทศ เขาก็จะส่งเข้าไปในไลน์กลุ่มลูกค้า ไปโพสต์ขึ้นเฟชบุ๊คของการไฟฟ้าแต่ละที่ หรือจอภาพต่างๆ ที่การไฟฟ้ามีอยู่ จะขึ้นโปรโมทให้พร้อมกัน พอลูกค้าเห็นก็จะทักมาหาเรา ก็จะซื้อขายสินค้าทางออนไลน์ได้เลย”
ปูป้าปลั๊ก มีดีอะไร ตอบโจทย์ผู้ใช้แค่ไหน?
หากพิจารณาดูรูปลักษณ์ของเต้ารับชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าปูป้าปลั๊กอาจจะมองดูคล้ายเต้ารับไฟฟ้าผสมผสานกับ Wall Charge และสถานีชาร์จ AC เพราะมีระบบให้สแกนจ่ายเงิน มีความโดดเด่นตรงที่มีราคาย่อมเยา ลงทุนซื้อเครื่องแค่ 6,500 บาท ก็สามารถนำไปติดตั้งตามคู่มือ ซึ่งมีค่าสายไฟ ค่าเบรกเกอร์ ค่าเครื่องตัดไฟรั่ว ค่าจัดเตรียมช่องจอด ถ้ามีช่างทำเองอาจใช้เงินลงทุนประมาณ 10,000 บาท ก็สามารถมีจุดชาร์จยานยนต์ไฟฟ้าไว้ให้บริการลูกค้าได้
แต่ใครเล่าจะรู้ว่านวัตกรรมที่ดูเรียบง่ายนั้นผ่านการวิเคราะห์และจัดวางให้ตอบโจทย์การใช้งานในกรณีที่ไม่มีธุระให้รีบชาร์จ เนื่องจากผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องใช้ Fast Charge ทุกครั้ง
“เรามุ่งพัฒนาเต้ารับขึ้นมานำเสนอให้กลุ่มที่ไม่ได้ต้องการชาร์จเร็ว โดยเฉพาะกลุ่มโรงแรมและรีสอร์ทจะชาร์จเร็วหรือช้าก็ต้องค้างคืน จึงไม่จำเป็นต้องชาร์จเร็ว ดังนั้นการเสียบชาร์จเอาไว้ทั้งคืนจึงไม่เป็นปัญหา อีกทั้งการลงทุนไม่สูงมากนัก ถึงจุดคุ้มทุนเร็ว” ชาติชาย ย้ำถึงข้อดีของเต้ารับที่จะไม่แข่งขันในเรื่องความเร็วของการชาร์จอย่างแน่นอน
ขณะเดียวกันราคาที่ถูกกว่าสถานีชาร์จทั่วไปอาจจะทำให้หลายคนกังวลว่าจะไม่ครอบคลุมการดูแลหลังการขายนั้น “ปัจฉิมาพร” ชี้แจงว่าถ้าใครกลัวว่าจะไม่ดูแลหลังการขาย คิดผิดเลย “ปัจจุบันเราได้รับฟีดแบ็คจากลูกค้าดีมาก เรามีคอลเซ็นเตอร์ที่โทร.หาลูกค้าเร็วมาก ราคาที่จ่ายหกพันห้าร้อยบาท เราดูแลหลังการขายให้หนึ่งปี ไม่ได้ดูแค่ตัวเครื่อง เราดูแลลูกค้าที่มาชาร์จด้วย ถ้าลูกค้ามาจ่ายเงินชาร์จ แล้วไฟไม่เข้ารถลูกค้า กระแสไม่ขึ้น จะมีคนมอนิเตอร์อยู่ ไม่เกินห้านาทีก็จะโทร.หา ลูกค้าเจอปัญหาตรงไหน จะสอนวิธีแก้ไขให้ทันที หรือถ้ามีปัญหาจนชาร์จไม่ได้จริงๆ เรายินดีคืนเงินให้ลูกค้า เซอร์วิสตรงนี้เราเป็นคนดูแลให้ เราบริการตรงนี้ให้ทั้งหมด”
ในด้านอายุการใช้งานของปูป้าปลั๊กนั้น “ปัจฉิมาพร” กล่าวว่าเหมือนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไปที่มีอายุการใช้งานประมาณ 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับสภาพแวดล้อม และการดูแลรักษา ถ้าดูแลดีจะใช้งานได้ถึง 5 ปี หรือนานกว่านั้น อย่างไรก็ตาม การรับประกันสินค้าระยะเวลา 1 ปี นันเป็นมาตรฐานทั่วไป ถึงแม้เลยเวลารับประกัน ทีมงานก็ยังคอยดูแลซ่อมแซมให้ ถ้าอะไหล่ชิ้นไหนเสียก็จะคิดค่าใช้เฉพาะจุดนั้นๆ
“ถ้าลูกค้าใช้งานหนักจริงๆ สามารถคืนทุนตั้งแต่ปีแรก ปกติรายได้จากการชาร์จจะมีการหักค่าบริการ 20% ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง การคิดค่าชาร์จเราเปิดโอกาสให้เจ้าของเครื่องสามารถตั้งราคาค่าชาร์จได้เองว่าจะคิดค่าชาร์จหน่วยละเท่าไหร่ ปกติมักจะตั้งราคาประมาณหน่วยละ 8-10 บาท ถ้าตั้งราคาดีๆ จะได้กำไรประมาณ 40%” เตชวัฒน์ อธิบายถึงหลักการคิดราคาที่ทีมงานจะคอยดูแลหลังการขายโดยผู้ลงทุนไม่ต้องจ้างคนมาดูแล
“สมมติมีรถเข้ามาชาร์จประมาณ 4 ชั่วโมงต่อวัน ทุกวัน ใช้เวลาเพียง 1 ปีก็คืนทุน ซึ่งกลุ่มลูกค้าแบบนี้จะเป็นกลุ่มคอนโดมิเนียม แต่กลุ่มโรงแรมจะไม่คืนทุนเร็วขนาดนั้น เพราะคนชอบเที่ยวช่วงวันหยุด วันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ วันธรรมดาอาจจะไม่ได้เยอะขนาดนั้น อันที่จริงจ่าย 6,500 บาทแลกกับการขึ้นหมุดให้ 3-4 หมุด เรามีหมุดของปูป้าปลั๊กขึ้นแมปบนแผนที่ให้ ขึ้นปลั๊กแชร์ให้คนทั่วโลกใช้ ขึ้นหมุดโวลต้าของ PEA ให้ แค่สามหมุดนี้ก็มองว่าคุ้มแล้ว เพราะราคาดังกล่าวไม่ใช่แค่ค่าเครื่อง มองเป็นการโปรโมท และเราถ่ายรูป รีวิว อาจจะมีทำคอนเทนต์วิดีโอให้อีกด้วย”
อย่างไรก็ตาม หากถามถึงจุดแข็งของปู ป้า ปลั๊ก ทุกคนเห็นตรงกันว่าอยู่ที่ตัวซอฟท์แวร์ภายใน เพราะสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับผลิตภัณฑ์อื่นได้ ในอนาคตอาจจะไปอยู่ในโพรดักส์ตัวอื่น โดยที่ไม่ต้องเริ่มต้นเรียนรู้ใหม่ และปัจจุบันทีมงานกำลังพัฒนาโปรดักส์ใหม่ออกมาเพื่อแนะนำสู่ตลาด
“ตอนนี้เราเตรียมทำกล่องเอาไว้ มองว่าบอดี้ปู ป้า ปลั๊ก สามารถใช้กับเอซีชาร์จเจอร์ขนาด 7 กิโลวัตต์ได้ด้วย เราทำรอไว้ จะลองขึ้นงาน ข้างในเป็นเอซีชาร์จเจอร์ แล้วลองขายดู ปีนี้น่าจะได้เห็น ตอนนี้ต้องสำรวจดูความต้องการลูกค้า ราคาได้ไหม ฟีเจอร์ได้ไหม คุณภาพได้ไหม ต้องถามลูกค้าก่อน ถ้าเสียงตอบรับดีก็ทำเป็นคอมเมอร์เชียลขาย” ชาติชายกล่าวสรุปในตอนท้าย