Last updated: 29 Dec 2023 | 446 Views |
AIS จับมือวิศวฯ จุฬา โชว์รถต้นแบบยานยนต์ไฟฟ้า 5G อัจฉริยะไร้คนขับได้สำเร็จ ด้วยเงินสนับสนุนจากกองทุน กทปส. ของ กสทช. ยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย และสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
นับตั้งแต่เริ่มมีการให้บริการ 5G เชิงพาณิชย์ในประเทศไทยเมื่อปี 2563 กสทช. ได้ส่งเสริมการใช้ 5G ขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลในอุตสาหกรรมหลัก ด้วยการตั้งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มุ่งผลักดันให้นำ 5G ไปประยุกต์ใช้ จนเกิดโครงการ “ทดลองการสื่อสารด้วยระบบ 5G สำหรับยานยนต์ไร้คนขับ” โดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ได้รับทุน และได้มีการร่วมมือกับ Smart Mobility Research Center (Smart MOBI) และ AIS 5G มาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2564 จนได้รถต้นแบบที่ทำงานผ่านระบบ 5G ได้ตามเป้าหมาย
นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวในงาน Demoday ของโครงการนี้ว่า 5G คือ เทคโนโลยีที่จะมาขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ประเทศไทยเป็น 1 ในฐานการผลิต ดังนั้นหากมีการทดลอง ทดสอบ การนำเอาแนวคิดของปัญญาประดิษฐ์เข้ามาช่วยในการขับขี่ ด้วยรูปแบบของระบบควบคุมยานยนต์อัตโนมัติ (Fully Automated) ผ่านเครือข่าย 5G ได้ ย่อมเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยให้มีความทันสมัย ขยายการเติบโต และสร้าง Smart City ให้เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม
ด้าน ศาสตราจารย์ ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “เรายินดีอย่างยิ่งที่ได้ทำงานวิจัย ทดลอง ทดสอบ ในครั้งนี้ ด้วยเป้าหมายคือ ให้ทีมนักวิจัยพัฒนารถขับเคลื่อนอัตโนมัติขั้นที่ 3 กล่าวคือ ให้รถยนต์สามารถขับเคลื่อนอัตโนมัติได้ด้วยตัวเอง ภายในสภาพแวดล้อมที่กำหนด และรองรับการสื่อสารระหว่างรถกับสรรพสิ่งผ่านโครงข่าย 5G รวมถึงพัฒนาและทดสอบ Use cases ต่างๆ ในระหว่างการทดลองให้บริการ ซึ่งผลการทดสอบเบื้องต้นเป็นไปอย่างราบรื่น”
ดร. ธีรศักดิ์ อนันตกุล หัวหน้าแผนกงานวางแผนและพัฒนาโครงข่ายวิทยุ เอไอเอส กล่าวว่าการร่วมมือกันครั้งนี้เราได้นำเทคโนโลยี 5G SA คลื่น n41 หรือ 2600 MHz มาพัฒนาเพื่อตอบโจทย์ทั้งในเรื่องความหน่วงเวลาที่ต่ำมาก และเรื่องการดาวน์โหลด อัพโหลดข้อมูลในปริมาณมาก ๆ มาร่วมทดสอบ สำหรับกรณีนี้คือ การ Streaming Video จากกล้องซึ่งมีอยู่หลายตัวทั้งในและนอกตัวรถ และมีการรับส่งข้อมูลตลอดเวลาระหว่างรถและศูนย์ควบคุม
นอกจากนี้ ระบบการสื่อสารระหว่างรถและโครงข่าย (Vehicle-to-Network: V2N Communications) รวมถึงข้อมูลการวิเคราะห์จากระบบปัญญาประดิษฐ์ก็จะสามารถรับส่งผ่าน 5G ได้เป็นอย่างดี โดยมีการอัพเดทข้อมูลสำคัญต่างๆ ระหว่างศูนย์ควบคุมและผู้ควบคุมรถได้อย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความปลอดภัยและมีประสิทธิภาพตลอดเส้นทางที่รถเคลื่อนที่และจุดจอดตามสถานีต่างๆระหว่างการทดลองใช้ภายในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความสำเร็จในครั้งนี้ช่วยจุดประกายอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และช่วยหนุนให้ประเทศไทยก้าวสู่ Smart City ส่งเสริม 5G ขับเคลื่อน สร้างประโยชน์และความแข็งแกร่งของเศรษฐกิจดิจิทัล ในอุตสาหกรรมหลักให้เป็นจริงขึ้นมา