Last updated: 5 มี.ค. 2567 | 1670 จำนวนผู้เข้าชม |
ที่ปรึกษาฯ ดนัยณัฏฐ์ เป็นประธานในพิธีเปิดหน้าดินอาคารสายการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า BMW แห่งแรกในอาเซียน เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 โรงงานแห่งนี้ครอบคลุมการผลิตโมดูลแบตเตอรี่ และการผลิตตัวแบตเตอรี่ เสริมศักยภาพการเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
นายดนัยณัฏฐ์ โชคอำนวย ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้รับมอบหมายจาก นางสาวพิมพ์ภัทรา วิชัยกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นผู้แทนร่วมเป็นประธานในพิธีเปิดหน้าดิน (Ground Breaking Ceremony) อาคารสายการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าของบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง (ประเทศไทย) จำกัด โดยมี ดร.มิลาน เนเดลจ์โควิช, บีเอ็มดับเบิลยู บอร์ดเมมเบอร์ โปรดักชั่น ให้การต้อนรับ โดยได้รับเกียรติจาก ดร. แอ็นสท์ ว็อล์ฟกัง ไรเชิล เอกอัครราชทูตสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ประจำประเทศไทย นายกำธร เวหน รองผู้ว่าราชการจังหวัดระยอง นายวิเชียร ทองด้วง อุตสาหกรรมจังหวัดระยอง และนายอัฐพล จิรวัฒน์จรรยา รองผู้ว่าการการนิคมแห่งประเทศไทย เข้าร่วม ณ นิคมอุตสาหกรรมอมตะซิตี้ อำเภอปลวกแดง จังหวัดระยอง
โรงงานผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าแห่งใหม่นี้ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 4,000 ตารางเมตร ประกอบรถยนต์และรถจักรยานยนต์ รวม 18 รุ่น รวมถึงประกอบรถยนต์ระบบปลั๊กอินไฮบริดอีก 5 รุ่น นับเป็นการขยายการดำเนินงานครั้งสำคัญของบีเอ็มดับเบิลยู แมนูแฟคเจอริ่ง ประเทศไทย เพื่อต่อยอดไปสู่การผลิตแบตเตอรี่ไฟฟ้าแรงดันสูง และยังเป็นการเตรียมความพร้อมของบริษัทฯ ในการเดินหน้าสู่การผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้า 100% รุ่นแรกของบีเอ็มดับเบิลยูที่จะได้รับการผลิตในช่วงครึ่งหลังของปี พ.ศ. 2568
บีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ใช้งบในการลงทุนาครั้งนี้ มากกว่า 1,600 ล้านบาท หรือประมาณ 42 ล้านยูโร ในการพัฒนาโครงการที่ล้ำสมัยโครงการนี้ ซึ่งรวมถึงเทคโนโลยี Gen5 ล่าสุด โดยเงินลงทุนจำนวนมหาศาลกว่า 1,400 ล้านบาท หรือประมาณ 36 ล้านยูโร จะถูกนำไปใช้ในการจัดซื้อและติดตั้งอุปกรณ์รวมถึงเครื่องจักรที่ล้ำสมัย สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของบีเอ็มดับเบิลยู กรุ๊ป ในการนำเทคโนโลยีที่เป็นนวัตกรรมใหม่มาสู่ประเทศไทย
ที่ปรึกษาฯ ดนัยณัฏฐ์ กล่าวว่า รัฐบาลและกระทรวงอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าผ่านคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ มีจุดมุ่งหมายให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนของโลก ตั้งแต่ปี 2564 คณะกรรมการฯ ได้กำหนดเป้าหมายการผลิตรถยนต์ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ (Zero Emission Vehicle: ZEV) ร้อยละ 30 ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด หรือที่เรียกว่าแผน 30@30 รวมถึงการผลักดันมาตรการสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย การส่งเสริมการลงทุนสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน การสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และการขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสาธารณะ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานการใช้งานและความปลอดภัย และการจัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งอยู่ภายใต้ ศูนย์ทดสอบยานยนต์และยางล้อแห่งชาติ (ATTRIC)
ทั้งนี้ บริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ได้ตั้งสายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย มายาวนานกว่า 24 ปี ซึ่งการขยายโรงงานประกอบแบตเตอรี่ในครั้งนี้ ถือเป็นโรงงานแห่งแรกของบริษัท บีเอ็มดับเบิลยู ในภูมิภาคอาเซียน ที่ครอบคลุมทั้งในส่วนของการผลิตโมดูลแบตเตอรี่และการผลิตตัวแบตเตอรี่ โดยสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าได้อย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นสัญญาณที่ดีในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของประเทศไทย ให้เป็นประเทศที่น่าลงทุน สะท้อนให้นานาชาติเห็นถึงความพร้อมในศักยภาพการเป็นฐานผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วน
ที่สำคัญการขยายโรงงานของบีเอ็มดับเบิลยูจะเกิดการต่อยอดในอีกหลากหลายมิติ ได้แก่ การถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาทักษะแรงงานจากผู้นำด้านเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้าระดับโลก การจ้างงาน สร้างงาน สร้างอาชีพ การส่งเสริมให้เกิดการรถยนต์ที่ใช้พลังงานสะอาดให้ประเทศไทยเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ และการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยในภาพรวมได้อย่างยั่งยืน
ที่มา : กระทรวงอุตสาหกรรม