Last updated: 4 ก.ค. 2568 | 156 จำนวนผู้เข้าชม |
สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา "สอศ." จัดการประชุมความร่วมมือ “Thailand EV Workforce: สร้างกำลังคนอาชีวะสู่อุตสาหกรรม EV และเทคโนโลยีแห่งอนาคต” โดยมีนายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา "เลขาธิการ กอศ." เป็นประธานการประชุม พร้อมหารือความร่วมมือแนวทางพัฒนากำลังคนอาชีวะให้พร้อมก้าวสู่ อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) และเทคโนโลยีแห่งอนาคต ร่วมกับ นายหวัง หย่งเจีย กรรมการ บริษัท เชเลิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป “Chelove” โดยมี ดร.สุรพงษ์ เอิมอุทัย ผู้ช่วยเลขาธิการ กอศ. ดร.ธนภัทร แสงจันทร์ ผู้อำนวยการสำนักความร่วมมือ และผู้แทนจากสำนักมาตรฐานการอาชีวศึกษาและวิชาชีพ และเจ้าหน้าที่สำนักความร่วมมือ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม 4 สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2568
นายยศพล เวณุโกเศศ เลขาธิการ กอศ.
นายหวัง หย่งเจีย กรรมการ บริษัท เชเลิฟ อินเตอร์เนชั่นแนล เอ็ดดูเคชั่น กรุ๊ป
การหารือร่วมกันครั้งนี้ มีประเด็นความร่วมมือสำคัญดังนี้
1.พัฒนาหลักสูตรทวิภาคีด้านยานยนต์ไฟฟ้า ร่วมกับ Chelove เพื่อให้สอดรับกับแนวโน้มอุตสาหกรรม
2.บูรณาการหลักสูตรเข้าสู่ระบบการเรียนการสอนอาชีวศึกษา พร้อมจัดการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติจริง และมีแผนขยายผลสู่ 5 ภูมิภาค
3.ยกระดับสมรรถนะครูผู้สอนด้าน EV ทั้งในด้านความรู้ เทคโนโลยี และการสอนภาคปฏิบัติ
4.ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย–จีน เพื่อเปิดโอกาสการฝึกงานในต่างประเทศ
5.ตั้งศูนย์ฝึกอบรม EV อย่างน้อย 1 แห่งต่อภูมิภาค รองรับการอบรมแบบ On-site พร้อมระบบคุณวุฒิวิชาชีพที่เชื่อมโยงกับภาคอุตสาหกรรม
สำหรับหลักสูตรที่จะร่วมพัฒนาจะครอบคลุมตั้งแต่ระดับพื้นฐานไปจนถึงความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับยานยนต์ไฟฟ้า รองรับการเรียนรู้ 3 ภาษา (ไทย–จีน–อังกฤษ) และได้รับการรับรองจากผู้ผลิตยานยนต์ชั้นนำ เช่น GAC AION และ Volkswagen โดยสอศ. ได้เตรียมการเร่งพัฒนาหลักสูตร ทักษะ และโอกาสของผู้เรียนอาชีวะตอบโจทย์อุตสาหกรรม EV อย่างเป็นรูปธรรม
ขณะเดียวกันในส่วนของ Chelove นั้น มีความพร้อมสนับสนุนการพัฒนากำลังคนอาชีวะอย่างเป็นระบบ ด้วยการนำผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรมมาถ่ายทอดความรู้จริง การพัฒนาแพลตฟอร์มการเรียนรู้ดิจิทัล และระบบประเมินผล–ออกใบรับรองที่เชื่อมโยงกับภาคการผลิตโดยตรง เพื่อยกระดับความพร้อมของผู้เรียนให้ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน EV ได้อย่างแท้จริง
การหารือในครั้งนี้ ถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบาย 30@30 และการพัฒนาทักษะเพื่ออนาคต ผ่านความร่วมมือเชิงนวัตกรรมระหว่างรัฐ เอกชน และสถานศึกษา
ที่มา : สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา
26 มิ.ย. 2568