Last updated: 21 Feb 2024 | 4401 Views |
กระแส “แท็กซี่ อีวี” มาแรง เร่งปั๊มยอดส่งอู่ใหญ่ปล่อยเช่า หลังค่าแก๊สลอยตัว ปั๊ม NGV ทยอยปิดตัวหาปั๊มเติมยาก โดยรถยอดนิยมที่ถูกนำมาทำเป็น TAXI EV คือ MG EP ที่โดดเด่นด้วยตัวถังแบบสเตชันแวกอนที่กว้างขวาง มีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลังขนาดใหญ่ จุได้ 1,456 ลิตร แบตเตอรี่ความจุสูงวิ่งได้ไกล 380 กม./การชาร์จเต็ม 1 ครั้ง ขณะที่ชุดแพกแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนเป็นแบบโมดูล สามารถแยกซ่อมแต่ละโมดูลได้อิสระ
เพจของ “SMART TAXI” แอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ระดับแนวหน้าของเมืองไทยได้เผยแพร่ภาพรถ MG EP ที่ได้รับการติดตั้งอุปกรณ์แท็กซี่ตามมาตรฐานของกรมการขนส่งทางบกเรียบร้อยแล้ว โดยสังเกตได้ว่าจะเลือกใช้รถที่ตัวถังสีขาวล้วนเพื่อสื่อถึงการใช้พลังงานสะอาด ขณะที่ป้ายไฟบนหลังคารถจะมีตัวอักษรสีเขียวคำว่า EV ขึ้นสลับกับคำว่า TAXI เพื่อให้ผู้ใช้บริการสังเกตเห็นได้ง่าย
ทั้งนี้เพจ “SMART TAXI” ระบุว่ารถแท็กซี่อีวีที่เห็นผ่านการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อย โดยรถชุดแรกถูกส่งมอบให้กลุ่มอู่แท็กซี่ และพร้อมออกวิ่งให้บริการแล้ว โดยอู่แรกๆที่นำ TAXI EV มาให้บริการคือ สุขสวัสดิ์แท็กซี่
โพสต์ดังกล่าวมีการเผยแพร่ตั้งแต่กลางเดือนกรกกฎาคมที่ผ่านมา หลังการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบสองยังไม่สามารถโหวตได้ แต่การติดตั้งรถแท็กซี่อีวีของภาคเอกชนดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว เลยเขียนแซวเล่นๆว่า “ถึงวันนี้ยัง Vote นายกไม่สำเร็จ รถไฟฟ้าเราติดตั้งเสร็จแล้วนะ ส่งมอบรถชุดแรกสำหรับกลุ่มอู่เรียบร้อย น่าจะออกให้บริการเร็วๆ นี้”
“SMART TAXI” เป็นแอปพลิเคชั่นเรียกรถแท็กซี่ที่มีส่วนในการจุดกระแสเปลี่ยนผ่านการใช้รถแท็กซี่จากติดแก๊สมาเป็นแท็กซี่ไฟฟ้า เนื่องจากการใช้แก๊สเริ่มไม่ตอบโจทก์ ปั๊มเอ็นจีวีเริ่มทยอยปิดตัวลง หาปั๊มเติมก๊าซยากขึ้น ส่วนแท็กซี่ที่ติดแก๊ส LPG กำลังจะเจอต้นทุนค่าแก๊สที่สูงขึ้นหลังรัฐบาลเลิกอุ้ม นโยบายลอยตัวค่าแก๊สจะทำให้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงสูงขึ้น
SMART TAXI เปรียบเทียบให้เห็นต้นทุนค่าเชื้อเพลิงกันแบบชัดๆว่า ถ้าใช้ก๊าซ NGV ค่าก๊าซจะอยู่ที่ 400-500 บาท/วัน ถ้าใช้แก๊ส LPG ค่าแก๊สตกวันละ 600-700 บาท แต่ถ้าเป็นแท็กซี่ไฟฟ้า ค่าชาร์จไฟตกวันละเพียง 200-300 บาท ถูกกว่าใช้ก๊าซเอ็นจีวีประมาณ 50% หรือครึ่งต่อครึ่ง ขณะเดียวกันถูกกว่าใช้แก๊สแอลพีจีถึง 66% หรือจ่ายแค่ 1 ใน 3 ของค่าแก๊ส
MG EP รถยอดนิยมนำมาวิ่งเป็น TAXI EV
MG EP มีความโดดเด่นที่จะนำมาทำเป็นรถแท็กซี่ด้วยความอเนกประสงค์ของตัวถังแบบสเตชันแวกอน มีพื้นที่เก็บสัมภาระด้านหลัง 1,456 ลิตร ใหญ่พอที่จะขนสัมภาระต่างๆของผู้โดยสาร แบตเตอรี่มีความจุ 50.3 กิโลวัตต์ชั่วโมง ชาร์จไฟเต็มหนึ่งครั้งวิ่งได้ระยะทางกว่า 380 กม. ขณะที่ชุดแพ็คแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนแบบโมดูลสามารถแยกซ่อมแต่ละโมดูลได้อย่างอิสระ ค่าซ่อมจึงถูกกว่าเพราะไม่ต้องเปลี่ยนแบบยกลูก
MG EP ทั้งสองรุ่นมาพร้อมมอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้กำลังสูงสุด 163 แรงม้า แรงบิด 260 นิวตันเมตร อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม.ภายใน 8.8 วินาที ระบบขับเคลื่อนล้อหน้า มีโหมดการขับขี่ 3 รูปแบบ คือ Eco, Normal และ Sport พร้อมระบบชาร์จไฟกลับเมื่อชะลอความเร็ว หรือ KERS Mode
แบตเตอรี่รองรับการชาร์จ 2 รูปแบบ คือ 1. Quick Charge ใช้เวลาประมาณ 40 นาที (ชาร์จพลังงานจาก 0% - 80%) และ 2.Normal Charge ใช้เวลาประมาณ 7 ชั่วโมง 15 นาที (ผ่าน MG Home Charge 0% - 100%)
สำหรับสถานการณ์ของผู้ให้บริการรถแท็กซี่นั้นก่อนมีการระบาดของโควิด-19 มีอยู่กว่า 1 แสนคัน แต่หลังการระบาดของโควิดลดเหลือ 4-5 หมื่นคัน เมื่อเจอกับต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เริ่มขยับตัวสูงขึ้นอีกจึงเป็นจังหวะเวลาที่แท็กซี่อีวีจะเริ่มเข้ามาแชร์ตลาดเช่นเดียวกับในตลาดรถยนต์ทั่วไป...