X

อุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าครึ่งปีแรกคึก ต่างชาติทุ่มกว่า 2 หมื่นล้าน ผลิตรถ EV และสถานีชาร์จ

Last updated: 14 ส.ค. 2566  |  568 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ต่างชาติทุ่มกว่า 2 หมื่นล้านผลิตรถ EV และสถานีชาร์จ

บีโอไอเผยยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนครึ่งปี 2566 เพิ่มขึ้นทั้งจำนวนโครงการและเงินลงทุน มูลค่ารวม 3.6 แสนล้านบาท กลุ่มรถยนต์ไฟฟ้ามีการเดินหน้าลงทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ทั้งจากบริษัทผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วน และสถานีชาร์จไฟฟ้า รวมเงินลงทุนกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ เปิดเผยว่า สถิติ คำขอรับการส่งเสริมการลงทุน 6 เดือน (มกราคม – มิถุนายน) ปี 2566 มีการยื่นขอรับการส่งเสริม รวมทั้งสิ้น 891 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 18 มูลค่าเงินลงทุน 364,420 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 70 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

อุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วนมีการลงทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา มีจำนวน 80 โครงการ เงินลงทุนรวม 19,600 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เช่น ยางล้อ เพลาล้อ ชิ้นส่วนระบบส่งกำลังแบบ Hybrid และสถานีบริการอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ EV

โดยที่ผ่านมามาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรม EV แบบครบวงจรของภาครัฐ ประสบความสำเร็จในการกระตุ้นตลาดรถยนต์ EV และดึงดูดการลงทุนจากผู้ผลิตชั้นนำของโลก จนทำให้ไทยก้าวขึ้นเป็นฐานการผลิตหลักของยานยนต์ไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน โดยปัจจุบันมีผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าแบบ BEV ได้รับการส่งเสริมแล้ว 14 โครงการ เงินลงทุนรวม 33,970 ล้านบาท คิดเป็นกำลังการผลิต 276,640 คันต่อปี ประกอบด้วยผู้ผลิตชั้นนำ เช่น BYD, Great Wall Motor, SAIC (MG), Mercedes Benz และ Horizon Plus ซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่างบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ Foxconn Technology Group จากไต้หวัน

นอกจากนี้ ยังมีผู้ผลิตรายใหญ่อีกหลายรายที่ได้ประกาศแผนการลงทุนในไทยแล้ว เช่น Changan Automobile และ GAC AION ซึ่งคาดว่าจะทยอยยื่นคำขอรับการส่งเสริมในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

สำหรับคำขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากต่างประเทศ (FDI) ในช่วง 6 เดือนแรก มีจำนวน 507 โครงการ เพิ่มขึ้นร้อยละ 33 เงินลงทุน 304,041 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 141 โดยจีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าเงินลงทุนมากที่สุด 61,500 ล้านบาท จาก 132 โครงการ ส่วนใหญ่ลงทุนในอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ อันดับ 2 ได้แก่ สิงคโปร์ 73 โครงการ เงินลงทุน 59,112 ล้านบาท ขณะที่ประเทศญี่ปุ่น แม้ว่าจะเป็นอันดับ 3 จำนวน 98 โครงการ เงินลงทุน 35,330 ล้านบาท แต่มูลค่าคำขอรับการส่งเสริมจากญี่ปุ่นเติบโตขึ้นกว่าเท่าตัวจากครึ่งแรกของปี 2565 ที่มีมูลค่า 16,793 ล้านบาท โดยมีโครงการขนาดใหญ่ในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วนยานยนต์

“การลงทุนในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 มีทิศทางที่ดี ทั้งตัวเลขคำขอรับการส่งเสริมการลงทุน และการออกบัตรส่งเสริม ส่วนการลงทุนจากต่างประเทศยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายสำคัญ สะท้อนถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทย ทั้งในด้านปัจจัยพื้นฐานและซัพพลายเชนที่แข็งแกร่ง รวมทั้งศักยภาพการเติบโตในระยะยาวของไทย ดังจะเห็นได้จากผลการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันประจำปี 2566 โดยสถาบัน IMD ที่ประเทศไทยขยับขึ้น 3 อันดับ

โดยเฉพาะด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจในปัจจัยย่อยด้านการลงทุนระหว่างประเทศที่ไทยดีขึ้นจากปีก่อนถึง 11 อันดับ จากอันดับ 33 ในปี 2565 มาอยู่ที่อันดับ 22 ในปีนี้ เนื่องจาก การเข้ามาของนักลงทุนต่างชาติจำนวนมาก ชี้ให้เห็นว่าท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ และความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ประเทศไทยคือคำตอบสำหรับนักลงทุน” นายนฤตม์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้